บทความที่ได้รับความนิยม

'ไผ่กระถางแก้ว ทำเงินยุคใหม่"

ทำง่าย-ขายได้ตลอดปี!

ความคิดสร้างสรรค์-การต่อยอด ถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของทุก ๆ อาชีพ เพราะเป็นวิธีหนึ่งที่ใช้ได้ผลดีกับการเพิ่มจุดขายให้กับสินค้า จากสินค้าธรรมดาเมื่อนำมาประยุกต์ดัดแปลงก็สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้อย่างน่าสนใจ อย่างเช่นงาน ’ไผ่ในกระถางแก้ว“ ที่ทีม ’ช่องทางทำกิน“ มีข้อมูลมานำเสนอให้พิจารณากันในวันนี้...

“จักรพันธ์ วรรณพุฒ” เจ้าของไอเดีย เล่าว่า มีอาชีพขายต้นไม้จำพวกไม้ประดับอยู่ที่สวนจตุจักร โดยตอนแรกเน้นจำหน่ายต้นอโกลนีมา ต่อมากระแสความนิยมลดลง อีกทั้งตลาดต่างประเทศซึ่งเคยเป็นตลาดใหญ่ซบเซาลง จึงหันมาสนใจไม้ประดับอย่าง ’ไผ่กวนอิม“ ไม้ชื่อมงคลที่สวยงาม และสามารถดัดตกแต่งรูปทรงได้มากมายหลายแบบ โดยแรก ๆ
ก็จำหน่ายต้นไผ่ให้กับลูกค้าเฉย ๆ ต่อมามองว่าสามารถนำมาต่อยอดโดยเพิ่มลูกเล่นและการประดับตกแต่งเข้าไป น่าจะทำให้สินค้าขายได้ราคาสูงขึ้น จึงมองไปที่การจัดวางไผ่กวนอิม ลงภาชนะเครื่องแก้ว เพราะรูปทรงสวยงาม แปลกตา มีหลากหลายแบบ จึงทดลองจำหน่ายที่หน้าร้าน ปรากฏว่าลูกค้าให้การตอบรับ จึงต่อยอดโดยใช้หินสีมาเพิ่มสีสันเข้าไปอีก

“ที่เลือกทำต้นไม้ในกระถางแก้ว เพราะอยากทำอะไรที่แปลกใหม่ออกไปจากตลาดที่มีอยู่ โดยต้นไผ่กวนอิมแต่ละต้นจะดีไซน์และตกแต่งไม่เหมือนกัน แต่หลัก ๆ จะเน้นความน่ารักสวยงาม เช่นปลูกต้นไผ่ให้เป็นแนวกำแพง ส่วนที่เลือกใช้หินและกรวดสีนั้น ตอนแรกคิดจะใช้ดินวิทยาศาสตร์เหมือนกัน แต่ปรากฏว่าต้นไผ่มีอายุสั้น เพราะรากไม่มีที่ยึดเกาะ จึงเปลี่ยนมาใช้หินและกรวดสีแทน เพื่อให้รากไผ่มีที่ยึดเกาะ ทำให้ลำต้นแข็งแรง และมีอายุยาวนานขึ้น” เจ้าของงานกล่าว

สำหรับเหตุที่เลือกไผ่กวนอิมมาใช้เป็นพืชหลักในการผลิตชิ้นงาน จักรพันธ์บอกว่าไผ่กวนอิมอยู่ได้นานกว่าไม้ชนิดอื่น ถ้าหมั่นบำรุงรักษา รดน้ำไปเรื่อย ๆ ก็จะอยู่ได้ยาวนาน ลำต้นก็จะสูงใหญ่ และแตกยอดออกมาเรื่อย ๆ อีกทั้งยังสามารถนำมาดัดหรือเปลี่ยนรูปทรงได้หลากหลาย จึงไม่ค่อยมีปัญหากับการจัดวางลงในภาชนะแก้วหลากหลายรูปทรง

แต่ที่สำคัญ และถือว่าเป็นจุดเด่นก็คือ เรื่อง ’ชื่อเป็นมงคล“ ซึ่งเหมาะกับการให้เป็นของขวัญในโอกาสต่าง ๆ เช่น วันเปิดร้านค้า ขึ้นบ้านใหม่ วันเกิด วันขึ้นปีใหม่ เทศกาลตรุษจีน รวมถึงมอบเป็นของที่ระลึกในโอกาสสำคัญ ๆ ต่าง ๆ จึงสามารถทำขายได้ตลอดทั้งปี โดยไผ่นั้นราคาในตลาดจะขายส่งอยู่ที่ประมาณ 12-18 บาท ต่อหนึ่งกอ แต่ถ้าซื้อปลีกราคาจะสูงขึ้น อยู่ที่ประมาณต้นละ 25-30 บาท สำหรับภาชนะกระถางและขวดแก้วที่นำมาใช้นั้น ราคาอยู่ที่ประมาณ 15 บาทขึ้นไป ขึ้นอยู่กับขนาดและรูปทรง ส่วนหินและกรวดสีราคาอยู่ที่ประมาณกิโลกรัมละ 20 บาทขึ้นไป
“ไผ่ที่เหมาะจะนำมาปลูก สามารถใช้ได้ทั้งขนาดลำต้นอ้วนและลำต้นผอม ตามแต่ชอบ ซึ่งชนิดของไผ่กวนอิมที่ตลาดนิยมจะประกอบไปด้วย ไผ่เงิน ซึ่งจะมีสีเขียวอ่อนมากถึงขาว ลำต้นจะเล็ก ไผ่หยก ลำต้นจะมีสีเขียวเข้ม และ ไผ่ทอง ลำต้นจะมีสีเหลืองนวล ๆ หรือออกเขียวอ่อน ๆ”

นอกจากไผ่กวนอิมแล้ว การเลือกภาชนะจัดวางก็ถือว่าสำคัญ ต้องเน้นรูปแบบสวยงาม สามารถเลือกใช้ได้ทั้งขนาดใหญ่และเล็ก ในส่วนของหินและกรวดสี ก็ต้องออกแบบให้เหมาะสมกับภาชนะและการจัดวาง โดยในส่วนหินและกรวดสีนี้ จะมีหลากหลายสีสันเพื่อให้ลูกค้าเลือก เพราะบางคนอาจต้องการสีที่ถูกต้องหรือเหมาะกับโฉลกตนเอง

ทุนเบื้องต้น ใช้ประมาณ 5,000 บาทในการลงทุนครั้งแรก ส่วนทุนวัตถุดิบ อยู่ที่ประมาณ 40% จากราคาขาย ซึ่งเมื่อจัดเป็นชุดแล้ว ราคาขายเริ่มต้นที่ 69 บาท จนถึง 500 บาท ขึ้นกับขนาดของต้นไผ่และภาชนะแก้วที่ใช้
วัสดุอุปกรณ์การทำหลัก ๆ ประกอบด้วย ไผ่กวนอิม, กระถางและขวดแก้ว, หินและกรวดสี อุปกรณ์ทั้งหมดหาซื้อได้ไม่ยาก มีจำหน่ายตามร้านขายของตกแต่งสวนทั่วไป

ขั้นตอนการทำ เริ่มจากนำไผ่กวนอิมที่จะนำมาจัด มาแช่น้ำจนกว่าต้นไผ่จะแทงรากออกมา เหตุที่ต้องนำไปแช่น้ำเพื่อให้ต้นไผ่แทงรากเพิ่ม เพราะจะทำให้ได้ต้นไผ่ที่แข็งแรง และมีรูปทรงที่คงทนและตั้งต้นได้ดี เมื่อได้ต้นไผ่มาแล้วก็นำมาจัดวางลงในภาชนะแก้ว จากนั้นนำหินหรือกรวดสีที่เตรียมไว้ค่อย ๆ เทใส่ลงไป ซึ่งขั้นตอนนี้ค่อนข้างยาก ใช้เวลา และต้องพิถี พิถันเป็นพิเศษ เพราะต้องจัดเรียงให้หินหรือกรวดสีอยู่ในแนวเดียวกัน โดยขั้นตอนนี้ขึ้นอยู่กับจินตนาการ

“จากราคาขายที่ไม่แพงมาก ประกอบกับรูปแบบที่ดูสวยงาม ทำให้มีลูกค้าหลายกลุ่ม เหมาะสำหรับเป็นของฝาก ของขวัญในเทศกาลต่าง ๆ หรือจะนำไปตั้งโชว์ประดับในที่ทำงานหรือที่บ้านก็ได้ ต้นไม้ในกระถางแก้วทำได้ไม่ยาก หลาย ๆ คนสามารถทำเป็นงานอดิเรกได้ในยามว่าง” จักรพันธ์ เจ้าของผลงาน กล่าว

สนใจชิ้นงานของจักรพันธ์ ไปดูได้ที่ ร้านอุษาไม้ประดับ โครงการ 15 ตลาดนัดสวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสบดี โทร.08-1900-2706 หรืออีเมล jackyja71@gmail.com ซึ่งนี่ก็ถือเป็นอีกหนึ่ง “ช่องทางทำกิน” ที่ทำไม่ยาก.

ศิริโรจน์ ศิริแพทย์/จิตสุภา เรืองประเสริฐ : เรื่อง-ภาพ
ข้อมูลความเป็นมาของ "หนังสือพิมพ์เดลินิวส์"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น


จำนวนการดูหน้าเว็บรวม