บทความที่ได้รับความนิยม

‘ขายปลาทูนึ่ง’ เงินงาม

ขาย “ปลาทูนึ่ง” เป็นอีกหนึ่งอาชีพเก่าแก่ที่จนวันนี้ก็ยังเป็น “ช่องทางทำกิน” ที่ดีของใครต่อใครมากมาย ซึ่งวันนี้ทางทีมงานคอลัมน์ช่องทางทำกินก็มีข้อมูลการทำอาชีพขายปลาทูนึ่งมาให้ลองพิจารณากัน...

เจ๊ชุม-ประชุม อยู่ประเสริฐ และ เจ๊อี๊ด-นิภา อยู่ประเสริฐ สองพี่น้องผู้คร่ำหวอดอยู่ในวงการปลาทูนึ่ง ยึดอาชีพนึ่งปลาทูขายมาหลายสิบปี กับปลาทูแม่กลอง ที่มีเอกลักษณ์คือ “หน้างอ-คอหัก” รสชาติขึ้นชื่อ โดยทั้งสองร่วมกันเล่าว่า อาชีพนี้เป็นอาชีพดั้งเดิมของครอบครัว พอพ่อแม่เสียก็รับช่วงทำอาชีพนี้

“ปลาทูแม่กลองจะมีความสด ใหม่ และกินอร่อย เพราะเป็นปลาที่นำมาจากทะเลวันต่อวัน ไม่มีการเก็บปลาไว้ค้างคืน แม่ค้าจะไปรับซื้อปลาที่ท่าเรือ เพื่อนำมาทำปลาทูนึ่ง ช่วงเวลาที่จะไปซื้อปลามานึ่งนั้นไม่แน่นอน เรือเข้า 2 โมงเช้า ก็ไป 2 โมงเช้า เรือเข้า 4 โมงเช้า ก็ไป 4 โมงเช้า รับปลามาแล้วก็เอาไปนึ่งทันที นึ่งเสร็จประมาณไม่เกินเที่ยงก็เอามาวางขายหน้าร้านได้เลย” เป็นกิจวัตรของคนขายปลาทูนึ่งเจ้านี้

เจ๊ชุมยังบอกอีกว่า ช่วงเทศกาลกินเจปลาแม่กลองจะยิ่งอร่อย ปลาจะมีชุกชุมและกำลังโตเป็นหนุ่มเป็นสาวเต็มตัว เอกลักษณ์ปลาทูแม่กลองต้องตัวเล็ก กินอร่อย เนื้อหวานกว่าปลาทูอินโดฯ ที่ตัวใหญ่กว่าแต่เนื้อจืด

สำหรับการทำอาชีพนึ่งปลาทูขายในภาพรวมนั้น อุปกรณ์ที่ใช้หลัก ๆ ก็มี... หม้อต้มปลาขนาดใหญ่ สั่งทำเฉพาะ, เต๊า หรือกระเตง (เป็นอุปกรณ์ที่มีลักษณะเป็นโครงเหล็กทรงกลม ที่ใช้เรียงเข่งปลา เพื่อนำปลาลงไปต้ม), หลัว (เข่งไม้สำหรับใส่เกลือเม็ด), เตาแก๊ส, เข่งไม้ไผ่, กะละมัง และทัพพี

ส่วนวัตถุดิบก็มี... ปลาทู, เกลือเม็ด, ใบตอง และน้ำสะอาด

หลายคนคงเข้าใจว่าที่เรียกว่า “ปลาทูนึ่ง” เพราะนำปลาไปนึ่ง แต่จริง ๆ แล้วปลาทูนึ่งไม่ใช่การนำปลาทูไปนึ่ง แต่จะนำปลาไปต้ม ที่เรียกว่าปลานึ่งนั้นเพราะเป็นคำที่คนโบราณเรียกกัน และเรียกต่อ ๆ กันมา

การนึ่งหรือต้มปลาทู เจ๊ชุมได้ลงมือทำให้ดู โดยเริ่มจากนำปลาทูมาควักไส้ออก โดยการอ้าปากปลาทู แล้วดึงเหงือกปลาทูออกมา ไส้ทั้งหมดก็จะออกมาด้วย (ไส้ปลาทูก็ไม่ต้องทิ้ง เพราะจะมีคนมารับซื้อถึงที่บ้าน เพื่อนำไปหมักเป็นไตปลา และเอาไปเป็นเหยื่อปลา)

ควักไส้แล้วก็นำปลาทูไปล้างน้ำให้สะอาด ก่อนจะจับปลาทูหักคอให้งอลง เพื่อที่ปลาจะได้อยู่ในเข่งอย่างสวยงาม ซึ่งจุดนี้ทำให้ปลาทูแม่กลองดูแตกต่างจากที่อื่น หลังจากเรียงปลาลงเข่งเรียบร้อยแล้ว ก็นำเข่งปลาทูมาเรียงลงเต๊า (1 เต๊าจะใส่เข่งปลาทูได้ประมาณ 70-80 เข่ง )

ถ้าใช้หม้อต้มขนาด 200 ลิตร จะต้องใส่น้ำลงไปประมาณ 3/4 ของหม้อ แล้วตักเกลือเม็ด 5 ขันใส่ลงไปต้ม พอน้ำเดือดใช้ทัพพีช้อนฟองออกให้สะอาด จากนั้นก็ยกเต๊าปลาทูลงต้มในหม้อ ประมาณ 5-6 นาที ก่อนจะยกเต๊าปลาลงให้ตักน้ำเกลือราดลงบนเข่งอีกครั้ง เพื่อให้ความชุ่มของเนื้อปลายังคงอยู่ ยกเต๊าลงวางให้สะเด็ดน้ำสักพัก และก่อนนำปลาทูเป็นเข่ง ๆ ออกไปขายก็ใช้ใบตองปิดหน้าปลาทูแต่ละชั้น ไม่ให้ปลาติดกัน

ก็เป็นอันเสร็จสิ้นกระบวนการทำปลาทูนึ่ง ซึ่งเจ๊ชุมบอกว่า ปลาทูที่นึ่งใหม่ ๆ จะมีกลิ่นหอมชวนรับประทาน และจะน่าทานยิ่งขึ้นถ้าปลาตัวอวบอ้วน เนื้อนุ่มแน่น ไม่ยุ่ย ท้องและผิวไม่ถลอก

เรื่องรายได้ ถ้าใช้ปลาทูสดประมาณ 100 กก. พอขายหมดเพื่อหักค่าใช้จ่ายต่าง ๆ จะเหลือเป็นค่าเหนื่อยประมาณ 200-300 บาท หรือถ้ามากหน่อยก็ประมาณ 400-500 บาท แล้วแต่ราคาปลาสดแต่ละช่วง

ขณะที่ราคาขายให้ลูกค้า ขึ้นอยู่กับไซซ์หรือขนาดของปลา ถ้าเข่งหนึ่งมี 2 ตัว ขายราคา 3 เข่ง 100 บาท ไซซ์รองลงมาก็ 4 เข่ง 100 บาท และไซซ์เล็ก 5-6 เข่ง 100 บาท

อาชีพขายปลาทูนึ่งเจ้านี้อยู่ที่ตลาดแม่กลอง เป็นปลาทูนึ่งเรือโป๊ะ สด ๆ ของอ่าวแม่กลอง ร้านอยู่หน้าร้านโอ้วแซเซ้ง ตรงข้ามวินมอเตอร์ไซค์ 5 พลัง เดินตรงไปอีกนิดก็จะเจอร้านปลาทูนึ่ง “เจ๊ชุม” จะอยู่ติดกับร้านกุยช่ายทอดและร้านของดองเจ๊หมวย ทั้งสองร้านเป็นเจ้าเดียวกันเพียงแต่แยกกันขาย ใครสนใจติดต่อเจ๊ชุม โทร. 08-1995-6163 ส่วนเจ๊อี๊ด โทร. 08-7919–3071 ทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ

ขาย “ปลาทูนึ่ง” เป็นอาชีพเฉพาะถิ่นก็จริงอยู่ แต่หากใครสนใจ ไม่ได้อยู่ไกลจากแหล่งปลาสดมากจนเกินไป ก็ใช่ว่าจะไม่สามารถทำขายได้ และนี่ก็เป็นอีก “ช่องทางทำกิน” ที่ไม่อาจมองข้าม.

ที่มา เดลินิวส์
เชาวลี ชุมขำ

2 ความคิดเห็น:

  1. ขอบคุณมาก เราจะไม่จนอีกแล้ว

    ตอบลบ
  2. ไม่ระบุชื่อ14 กรกฎาคม 2556 เวลา 22:17

    วิธีที่จะทำไม่ให้ปลาทูเน่าหลังจากนึ่งแร้วทำไง จะได้เก็บไว้นานๆ

    ตอบลบ


จำนวนการดูหน้าเว็บรวม