บทความที่ได้รับความนิยม

‘เครื่องดื่มสมุนไพร’ สร้างรายได้


‘ผงสำเร็จรูป’ ยังขายได้

แนวคิดเรื่องการแปรรูปอาหารหรือถนอมอาหารนั้นมีหลายแบบหลายประเภท ซึ่งในยามหน้าร้อนแบบนี้คอลัมน์ “ช่องทางทำกิน” มีหนึ่งแนวคิดมานำเสนอ เป็นเรื่องของการทำ “เครื่องดื่มสมุนไพรแบบผงสำเร็จรูป” ซึ่งก็เป็นอีกแนวคิดที่นำมาซึ่งการสร้างหรือต่อยอดอาชีพ ที่น่าพิจารณา...

ศักดิ์ชัย โชติชัชวาล ประธานกลุ่มอาชีพเครื่องสมุนไพร “โพธิ์ทอง” ย่าน จ.สมุทรปราการ เล่าว่า ทางกลุ่มผลิตเครื่องดื่มสมุนไพรมาตั้งแต่ปี 2540 เนื่องจากคุณพ่อเป็นซินแสซึ่งมีความรู้ความชำนาญเกี่ยวเรื่องยาจีน ซึ่งก่อนหน้านั้นตนไม่ได้ทำเครื่องดื่มสมุนไพรมาก่อน แต่ทำธุรกิจขายไอศกรีม และเพราะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจยุคฟองสบู่แตก การค้าขายเงียบเหงามาก จึงจำเป็นต้องหาอาชีพอื่นมาเสริม

“ด้วยความที่คุณพ่อมีตำราจีนอยู่แล้ว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นยาหม้อแทบทั้งสิ้น อาทิ เกสรทั้ง 9, ฟ้าทลายโจร ซึ่งก็ได้ทดลองทำจากยาหม้อมาเป็นเครื่องดื่มผงแบบชงสำเร็จรูป ก็ขายได้ในระยะแรก ๆ แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะว่าไม่ผ่านการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จึงเปลี่ยนรูปแบบสินค้าใหม่ ทำเครื่องดื่มสมุนไพรแบบทั่ว ๆ ไป อาทิ เก๊กฮวย ขิง มะตูม ดอกคำฝอย หล่อฮั้งก้วย เห็ดหลินจือ ซึ่งกว่าจะลงตัวในปัจจุบันนั้น ก็ลองผิดลองถูกมามาก กว่าจะประสบความสำเร็จได้ก็ใช้เวลาระยะหนึ่งเช่นกัน”

หลักการทำเครื่องดื่มชงสมุนไพรนั้น ศักดิ์ชัยเล่าว่า ไม่ยากเลย ซึ่งตนก็ทดลองทำทุกแบบทุกสไตล์แล้ว แต่การทำให้ได้คุณภาพและได้ราคาที่สามารถแข่งขันในท้องตลาดนั้น ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย คุณภาพเครื่องจักรสำคัญมาก หากใครที่มีความสามารถที่จะลงทุนได้ ก็ต้องลงทุน แต่ถ้าจะทำขายแบบพื้นฐาน ก็ไม่ใช่เรื่องยากเกินไป

ศักดิ์ชัยอธิบาย ว่า การทำเครื่องดื่มชงสมุนไพรสำเร็จรูปแบบผงนั้นถ้าไม่มีหรือไม่ใช้อุปกรณ์ซึ่งเป็นเครื่องจักรราคาสูง อุปกรณ์หลัก ๆ ได้แก่ หม้อต้มน้ำ, กระทะ, เตาแก๊ส ส่วนวิธีทำนั้น หากเป็น ขิงผง ต้องใช้ขิงปริมาณ 1.5 กก. ปั่นเอาน้ำ ไม่เอากาก จากนั้นผสมกับน้ำตาล สำหรับสัดส่วนปริมาณนั้น ก็ตามแต่สูตร

หากเป็นสูตรแบบชาวบ้าน ใช้น้ำขิง 1 กก. ต่อน้ำตาลทราย 2 กก. เคี่ยวไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งตกผลึกเป็นผง ซึ่งขิงผงที่ออกมานั้นได้เท่ากับจำนวนน้ำตาล เพราะน้ำตาลเป็นสารที่ตกผลึก ส่วนน้ำขิงนั้นจะถูกเคี่ยวผสมให้เข้ากับน้ำตาลจนงวดไป จากนั้นก็จะเข้ากระบวนการตากแดดให้แห้ง และเข้าตู้อบ แล้วใส่บรรจุภัณฑ์

เช่นเดียวกับ มะตูมผง, เก๊กฮวยผง, หล่อฮั้งก้วยผง ที่จะต้องต้มน้ำสมุนไพรแต่ละอย่างให้เรียบร้อยเสียก่อน ก่อนที่จะนำไปเคี่ยวกับน้ำตาลในกระทะให้แห้ง อย่างไรก็ตาม ถ้าไม่ต้องการจะผ่านขั้นตอนการเคี่ยวให้ตกผลึก รวมไปถึงขั้นตอนการตากแดด และเข้าตู้อบให้แห้ง จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ ซึ่งต้องใช้ความร้อนสูง ดูดน้ำสมุนไพร แล้วพ่นลงในถัง ซึ่งเมื่อเจอไอร้อนน้ำสมุนไพรจะร่วงเป็นผง ซึ่งพร้อมบรรจุได้เลย อุปกรณ์ดังกล่าวมีราคาสูง ซึ่งอันนี้ก็ขึ้นอยู่กับขนาดของกิจการ และกำลังในการลงทุนอุปกรณ์ว่ามีมากน้อยเพียงใด

ส่วนปริมาณในบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มสมุนไพรแบบผง คือ 15 กรัมต่อซอง บรรจุกล่อง กล่องละ15 ซอง ขายกล่องละ 65-100 บาท (ขึ้นอยู่กับวัตถุดิบ) ส่วนกำไรต่อกล่องหลังหักค่าใช้จ่ายแล้ว ประมาณ 7-10 บาทขึ้นไป

นอกจากเครื่องดื่มสมุนไพรผง กลุ่มนี้ยังทำ หมี่กรอบ 3 รส บรรจุใส่ถุงพลาสติกคล้ายขนมอบกรอบ ซึ่งศักดิ์ชัยอธิบายว่า ก็คือหมี่กรอบทั่ว ๆ ไป แต่ทำให้ทานง่าย สะดวกขึ้น โดยทางกลุ่มได้ออกแบบเครื่องหั่นหมี่ให้เป็นชิ้น ๆ เป็นแท่ง ๆ มีขนาดยาวพอคำ รวมไปถึงการปรับปรุงรสชาติ เช่น การใช้น้ำมะนาวแทนน้ำมะขามเปียก ใส่ไข่ไก่เพิ่มเติม ซึ่งการลงทุนในอุปกรณ์นี้ ประมาณ 100,000 บาท หรืออาจจะใช้ใช้วิธีหั่นมือก็ได้

“จุดเริ่มต้นตรงนี้เกิดมาจากการไปออกบูธขายในมหาวิทยาลัย ซึ่งมีแต่วัยรุ่นแทบทั้งสิ้น ส่วนเครื่องดื่มสมุนไพรผงนั้นไม่มีคนสนใจ ดังนั้นจึงเกิดแรงบันดาลใจว่าจะทำขนมซึ่งเป็นของว่างแบบไทย ๆ แต่ถูกใจวัยรุ่น ซึ่งหมี่กรอบนั้นมีสูตรอยู่แล้ว จึงนำมาปรับปรุงให้เป็นขนม ให้ทานง่าย”

สูตรหมี่กรอบนั้น หมี่กรอบ 3 รส ปริมาณ 100 กรัม ประกอบไปด้วย เส้นหมี่ 30% ไข่ไก่ 15% หอมหัวใหญ่ 13% น้ำมันปาล์ม 9% น้ำตาลทราย 9% ซอสพริก 8% น้ำมะนาว7% ขายในราคากล่องละ 35 บาท 3 กล่อง 100 บาท ซึ่งหลังจากหักค่าใช้จ่ายแล้วจะได้กำไรประมาณ 15-20 บาท

สนใจ “เครื่องดื่มสมุนไพรแบบผงสำเร็จรูป” และหมี่กรอบ 3 รสรูปแบบใหม่ ของกลุ่มอาชีพเครื่องสมุนไพร ติดต่อศักดิ์ชัย โชติชัชวาล ประธานกลุ่ม ได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 08-1816-9904 และ 0-2749-2249.

สุภารัตน์ ยอดศิริวิชัยกุล : รายงาน

ขอบคุณที่มา หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม