บทความที่ได้รับความนิยม

‘ที่ติดตู้เย็น น่ารักๆ’ พลิกแพลงได้ขายคล่อง

ศิลปะตัดแปะสร้างลวดลายต่าง ๆ แบบญี่ปุ่นที่เรียกว่างาน “โอชิเอะ” เป็นหนึ่งในงานฝีมือที่คนไทยก็นิยมทำ โดยพัฒนาดัดแปลงจนเป็นศิลปะผ้าไทยประดิษฐ์ที่มีเอกลักษณ์ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นงานชิ้นใหญ่ที่ขายในราคาสูง แต่ก็มีคนคิดย่อขนาดทำเป็น “ที่ติดตู้เย็น” จนเป็น “ช่องทางทำกิน” ได้อย่างน่าสนใจ...

ยุพิน ผูกพานิช เจ้าของงานฝีมือดังกล่าวนี้เล่าว่า เดิมทีทำงานเป็นพนักงานบริษัท ต่อมาคิดได้ว่าอาชีพพนักงานประจำเริ่มมีความเสี่ยงเพราะเศรษฐกิจไม่ดี น่าจะวางแผนล่วงหน้าให้กับชีวิต จึงตัดสินใจศึกษางานประดิษฐ์ต่าง ๆ ซึ่งก็สนใจงานศิลปะโอชิเอะที่คนไทยนำมาเรียกใหม่ว่าเป็นงานศิลปะผ้าไทยประดิษฐ์ และเริ่มทำเป็นอาชีพมาตั้งแต่ปี 2543 รายได้ก็เรียกว่าพออยู่ได้ โดยทำเป็นชิ้นงานขนาดใหญ่ ในลักษณะของภาพสำหรับใส่กรอบรูปหรือแขวนติดผนัง ซึ่งงานส่วนใหญ่ที่ทำเป็นภาพติดผนัง หรือใส่กรอบรูป จะเน้นไปที่งานศิลปะไทย เช่น ภาพสัตว์หิมพานต์, ลวดลายไทย กับภาพวิวทิวทัศน์เป็นหลัก แต่ต่อมาคิดได้ว่าหากนำรูปแบบของงานดังกล่าวมาปรับขนาดย่อส่วนให้เล็กลง ก็สามารถขายในราคาที่ต่ำกว่า อาจจะทำให้ขายงานได้ง่ายยิ่งขึ้น

สุดท้ายก็เริ่มทำ “ที่ติดตู้เย็น” หรือที่เรียกว่า “แมกเนต”

ยุพินเล่าว่า ในระยะแรกที่ทำ รูปแบบส่วนใหญ่จะเน้นที่ “ตุ๊กตาสัตว์” อาทิ ช้าง, ยีราฟ, แพนด้า เป็นหลัก ต่อมาก็พัฒนาเป็นรูปแบบ “ตัวการ์ตูน” ที่ดูน่ารัก เช่น ตุ๊กตากิโมโน, ตุ๊กตาเด็กผู้หญิงจีน (อาหมวย), เด็กหัวเห็ด เป็นต้น ซึ่งตอนนี้มีสินค้าอยู่ราว 20 แบบ และจากรูปแบบที่ผลิตเป็นที่ติดตู้เย็น ต่อมาก็พัฒนาเป็นพวงกุญแจ, ที่ห้อยโทรศัพท์มือถือ เพิ่มขึ้นมา โดยราคาขายปัจจุบันอยู่ที่ชิ้นละ 39 บาท

“เรามองว่าถ้าจะนั่งรอขายแต่ชิ้นใหญ่ ๆ คงไม่ได้ เศรษฐกิจไม่ดี น่าจะขายได้ยากขึ้น เนื่องจากสินค้าค่อนข้างมีราคาสูง ก็เลยคิดย่อส่วนชิ้นงานลง มา แต่ก็ต้องหารูปแบบใหม่ด้วย ก็มาลงเอยที่ที่ติดตู้เย็น”

ทุนเบื้องต้นอาชีพนี้ ทำเล็ก ๆ ใช้ประมาณ 1,000 บาทก็พอ ส่วนใหญ่เป็นค่าอุปกรณ์ ขณะที่ทุนวัตถุดิบอยู่ที่ประมาณ 30% ของราคาขายเท่านั้น ซึ่งถือว่าเป็นงานที่ใช้เงินลงทุนต่ำ และใช้ทุนวัตถุดิบน้อย เมื่อเทียบกับงานประดิษฐ์ชิ้นอื่น ๆ โดยงานนี้เป็นงานที่เน้นฝีมือและจินตนาการในการทำเป็นสำคัญ

สำหรับวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ก็มี ปากกาหัวแร้ง, ปืนยิงกาว-กาวร้อน, กรรไกรตัดกระดาษ, คัตเตอร์, คีมปากคีบ, แม่เหล็ก, วัสดุตกแต่ง, กระดาษสา, เศษผ้าไหม, กระดาษแข็ง, สีอะคริลิกหรือสีโปสเตอร์, ฟองน้ำ

ขั้นตอนการทำ เริ่มจากการขึ้นแบบ (แพทเทิร์น) ของตุ๊กตาที่จะทำ โดยใช้การร่างแบบส่วนประกอบต่าง ๆ ของตัวตุ๊กตา เช่น หัว, แขน, ขา ลงบนกระดาษแข็ง ใช้กรรไกรหรือคัตเตอร์ตัดกระดาษที่ร่างแบบส่วนต่าง ๆ ออกจากกัน เสร็จแล้วนำแบบที่ได้มาทาบลงบนเศษผ้าไหมและฟองน้ำ จากนั้นตัดตามรอย

เมื่อได้ส่วนประกอบต่าง ๆ แล้ว ให้นำฟองน้ำมาวางบนชิ้นส่วนของตุ๊กตา (กระดาษแข็ง) นำเศษผ้าไหมที่ตัดไว้มาหุ้มทับฟองน้ำและกระดาษ เชื่อมติดกันด้วยกาวร้อน จากนั้นนำกระดาษสามาหุ้มปิดบริเวณด้านหลังของตุ๊กตา แล้วทำการเชื่อมติดแม่เหล็กเข้าที่ด้านหลังของตุ๊กตาด้วยกาวร้อน เมื่อติดส่วนประกอบต่าง ๆ เสร็จแล้วก็ถึงขั้นตอนการตกแต่งตัวตุ๊กตา ซึ่งการตกแต่งหน้าตาของตุ๊กตานั้นเจ้าของผลงานแนะนำเคล็ดลับว่า ควรเลือกสีที่ใช้ให้กลมกลืนกับลวดลายของผ้าที่อยู่บนตุ๊กตา เมื่อตกแต่งด้วยสีแล้วก็ทิ้งไว้ให้สีแห้ง เป็นอันเสร็จ

“งานนี้สามารถทำขายไปได้เรื่อย ๆ ไม่มีตันแน่นอน เพราะเปลี่ยนรูปแบบได้เรื่อย ๆ แต่จุดสำคัญต้องเข้าใจกลุ่มลูกค้า ต้องรู้ว่าจะขายสินค้าให้ลูกค้ากลุ่มไหน เพราะสินค้าแต่ละแบบก็มีกลุ่มที่นิยมไม่เหมือนกัน เช่น ตุ๊กตาช้าง จะขายดีกับลูกค้าต่างชาติ ขณะที่แบบที่เป็นตุ๊กตาจะขายดีกับกลุ่มวัยรุ่นและพนักงานออฟฟิศ ดังนั้นจะต้องเข้าใจว่าลูกค้าในตลาดของเราเป็นกลุ่มใดบ้าง” ยุพิน ผูกพานิช เจ้าของผลงานแนะนำเรื่องตลาด

สนใจงานของยุพิน ติดต่อได้ที่ 26/22 หมู่ 10 ต.ลาดสวาย อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี หรือที่ตลาดนัดสวนจตุจักร โครงการ 7 ซอย 3 โทร. 0-2152-3852 อีเมล yupin.fabricart@hotmail.com ซึ่งถ้าใครสนใจอยากจะทราบข้อมูลการทำที่ลึกกว่าที่ว่ามา ก็ลองสอบถามโดยตรงจากเจ้าของผลงานนี้ได้เลย.

ศิริโรจน์ ศิริแพทย์ : รายงาน

ที่มา เดลินิวส์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น


จำนวนการดูหน้าเว็บรวม