บทความที่ได้รับความนิยม

'ยาโมโนซาชิ' ย้อมผ้าแบบญี่ปุ่นสร้างอาชีพ


เก็บตกจากงานประชุมวิชาการนานาชาติครั้งที่ 1 ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร (มทร.พระนคร) เมื่อ 13-16 ก.ค.ที่ผ่านมา นอกจากด้านวิชาการแล้วยังมีการอบรมวิชาชีพต่าง ๆ รวมถึง “เทคนิคย้อมผ้ายาโมโนซาชิ (Yamonoshashi)” ของญี่ปุ่น ที่สามารถจะเป็น “ช่องทางทำกิน” ในไทยได้...

เทคนิคการย้อมผ้า “ยาโมโนซาชิ” เป็นการย้อมผ้าที่ไม่ต้องใช้น้ำ และไม่ต้องใช้ความร้อนจากเตาไฟ โดยใช้สีสำเร็จจากกระดาษคาร์บอน และใช้ความร้อนจากเตารีด โดยที่สีนั้นจะทนทาน ไม่หลุด ซึ่งเจ้าหน้าที่จากวอยซ์ ฮอบบี้ คลับ แจกแจงว่า คนญี่ปุ่นจะให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมาก ไม่อยากให้มีน้ำเสีย จึงใช้เทคนิคย้อมผ้าแบบนี้ และเทคนิคนี้ยังประหยัดเวลาและพลังงาน

เทคนิคนี้เริ่มต้นที่การเตรียมผ้า ซึ่งย้ำว่าจะต้องเป็น ผ้าโพลีเอสเตอร์ 100% ซึ่งจะดูดซับสีได้ดีที่สุด หรืออาจจะเป็นผ้าโพลีเอสเตอร์ปนกับผ้าฝ้าย (คอตตอน) ก็ได้ แต่จะต้องเป็นสัดส่วนผ้าโพลีเอสเตอร์อย่างน้อย 70% หากมีสัดส่วนของเนื้อผ้าฝ้ายมากสีที่ย้อมออกมาอาจจะหม่น โดยราคาของผ้าโพลีเอสเตอร์นั้นที่ญี่ปุ่นจะค่อนข้างแพงมาก แต่ถ้าเป็นโพลีเอสเตอร์ในไทยราคาอย่างต่ำเมตรละ 30 บาท ซึ่งก็เป็นราคาที่ไม่แพงนัก

สำหรับ กระดาษย้อมผ้า มี 2 ขนาดคือ ขนาดกระดาษ A5 และขนาด B4 ซึ่งมี 2 แบบ คือ สีพื้น ซึ่ง 1 ชุดจะมี 5 สี 5 แผ่น ต้นทุนส่วนนี้อยู่ที่ 285 บาท และนอกจากนี้ ยังมีกระดาษย้อมผ้าแบบที่เป็นลวดลาย

อุปกรณ์ชิ้นต่อมาคือ ตัวเจาะกระดาษ ให้เป็นลายต่าง ๆ อาทิ ดาว ดอกไม้ ปลา หัวใจ ฯลฯ ซึ่งราคาตัวเจาะนี้อยู่ที่ชิ้นละ 100 กว่าบาท หรืออาจจะวาดเองก็ได้ วาดใส่กระดาษย้อมผ้าแล้วนำมาตัด หรืออีกเทคนิคคือ การใช้ใบไม้ อาทิ ใบเมเปิลสด นำมารีดให้แห้ง ให้ละอองน้ำออกไป แล้วนำมาใช้ในลักษณะเป็นตัวกั้นสี

นอกจากนี้ ยังมีลายที่เป็นที่นิยมคือการฉีกกระดาษเอง เป็นรูปดอกไม้ลักษณะ 5 แฉก หรือเป็นรูปดอกไม้แบบกลม ๆ ก็ได้ ถ้าเป็นลายการ์ตูนก็ยากขึ้นหน่อย ซึ่งตรงนี้ขึ้นอยู่กับความสามารถของแต่ละคน

วิธีทำนั้น เมื่อเตรียมผ้าแล้ว เช่นจะทำเป็นผ้าเช็ดหน้า ใช้ผ้าโพลีเอสเตอร์ขนาด 30 x 30 เซนติเมตร รีดผ้าให้เรียบก่อน ซึ่งจะต้องรองรีดหลายชั้นหน่อย ตั้งแต่ไม้กระดาน ผ้ารองรีด (ผ้าสักหลาดสีแดง) และหนังสือพิมพ์ ซึ่งหนังสือพิมพ์ต้องใช้แบบที่หมึกพิมพ์ไม่เลอะเทอะ หรืออาจจะใช้กระดาษอื่นแทนก็ได้

เมื่อรีดผ้าเสร็จแล้วก็วางผ้าลง จัดเรียงลวดลายจากกระดาษย้อมผ้าบนผืนผ้าให้เรียบร้อย ซึ่งการออกแบบลวดลายนั้นก็สุดแท้แต่ความต้องการหรือจินตนาการของแต่ละคน แต่จะต้องวางด้านที่มีสีลงบนผ้า จากนั้นวางกระดาษหนังสือพิมพ์หรือกระดาษขาวธรรมดาลงบนลวดลายอีกชั้น เมื่อเตารีดร้อนแล้วก็รีดทับลงไป ซึ่งระยะเวลาที่รีดนั้นจะใช้ประมาณ 40 วินาทีก็เสร็จเรียบร้อย แต่ถ้าต้องการให้สีติดมากกว่านี้ อาจจะเพิ่มเวลาลงไปอีกเล็กน้อยก็ได้ โดยสำหรับกระดาษย้อมผ้าดังกล่าวนี้จะใช้ได้อย่างน้อย 2 ครั้ง และอย่างมาก 4 ครั้ง

นอกจากนี้ยังมีเทคนิคการใช้สีแบบเดียวกัน แต่เป็นในลักษณะสีหลอด ผสมกับน้ำแล้ววาดด้วยพู่กัน เขียนภาพหรือตัวอักษรลงบนกระดาษเขียนพู่กันจีน จากนั้นนำไปรีดบนผ้า ก็จะได้ลายตามที่ต้องการ

เพิ่มเติมเทคนิคใบไม้ที่กล่าวไว้ข้างต้น ใบไม้สำหรับกั้นสีนั้นหมายความว่าเราจะต้องวางใบไม้ลงบนผ้าเสียก่อน จากนั้นวางกระดาษย้อมผ้าลงไป ทับด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์อีกชั้น เมื่อรีดออกมาแล้วก็จะได้ลายของใบไม้ โดยพื้นที่รูปใบไม้จะเป็นสีขาวเพราะไม่โดนสี จากนั้นพลิกใบไม้อีกด้านหนึ่งลงบนพื้นสีขาวตรงนั้น วางกระดาษทับอีก แล้วรีดลงไป ก็จะได้สีของเส้นใยใบไม้บนผืนผ้า

เทคนิคการย้อมผ้าแบบนี้หากฝึกทำจนเชี่ยวชาญแล้ว สามารถจะทำเป็นอาชีพได้ สามารถใช้กระดาษย้อมผ้านี้ได้กับรูปแบบของผ้าหลาย ๆ ประเภท อาทิ เสื้อ ผ้าเช็ดหน้า กระเป๋า ผ้ากันเปื้อน ฯลฯ ซึ่งราคาขายชิ้นงานนั้นก็ตั้งตามความเหมาะสม ซึ่งนี่เป็นงานฝีมือ ราคาจะค่อนข้างดี อีกทั้งทุนวัสดุอุปกรณ์ก็ไม่สูงมาก

ใครสนใจ “เทคนิคย้อมผ้ายาโมโนซาชิ” ต้องการติดต่อได้ที่สถาบันวอยซ์ ฮอบบี้ คลับ ติดต่อได้ที่ เลขที่ 165 ชั้น 3 ซอยสุขุมวิท 49 (กลาง) ถนนสุขุมวิท กรุงเทพฯ โทร.0-2714-7251 (ติดต่อคุณไก่)

สุภารัตน์ ยอดศิริวิชัยกุล :รายงาน

คู่มือลงทุน...ย้อมผ้ายาโมโนซาชิ


ทุนอุปกรณ์ ไม่เกิน 1,000 บาท (ตามราคาเตารีด)
ทุนวัสดุ ประมาณ 285 บาท / กระดาษ 1 ชุด
รายได้ ขึ้นอยู่กับการตั้งราคาขายชิ้นงาน
แรงงาน 1 คน
ตลาด ย่านช็อปปิ้ง, รับทำตามออเดอร์
จุดน่าสนใจ เทคนิคแบบญี่ปุ่นใช้เป็นจุดขายได้
เครดิตจาก เดลินิวส์

‘กระเป๋าหนัง’


แฮนด์เมดทำเงินได้ทุกยุค

อาชีพทำ “กระเป๋าหนัง” ที่เป็นงาน “แฮนด์เมด” ไม่จำเป็นต้องมีโรงงานใหญ่โต ลงทุนไม่มากก็ทำอาชีพนี้ได้ ขอเพียงมีความรู้ความชำนาญในการทำ ยิ่งถ้าออกแบบดีไซน์ตามกระแสแฟชั่นได้อยู่ตลอด สินค้าประเภทนี้ก็จะเป็น “ช่องทางทำกิน” ให้กับผู้ที่ทำได้เป็นอย่างดี อาชีพนี้จึงเป็นอีกอาชีพหนึ่งที่น่าสนใจ

อิทธิเดช ตันบูล มีประสบการณ์เย็บกระเป๋าหนังมากว่า 10 ปี ปัจจุบันจำหน่ายด้วยแบรนด์ NC โดยเขาเริ่มจากการที่ไม่มีความรู้เรื่องการทำเครื่องหนังเลย แต่ก็เรียนรู้จนสามารถทำกิจการของตัวเองได้ ซึ่งเจ้าตัวเล่าว่า เป็นคนต่างจังหวัด หลังเรียนจบ ม.6 ก็เดินทางเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ โดยเป็นลูกจ้างในร้านเครื่องหนัง และเริ่มเรียนรู้เก็บเกี่ยวประสบการณ์การทำเครื่องหนังมาเรื่อย จนสามารถทำเป็นทุกขั้นตอน ทำได้ทุกอย่าง

เป็นลูกจ้างอยู่ประมาณ 10 กว่าปี อิทธิเดชก็เริ่มมีความคิดที่จะมีร้านเป็นของตัวเอง จึงตัดสินใจออกมาสร้างธุรกิจเย็บกระเป๋าหนัง เริ่มจากเปิดร้าน เล็ก ๆ ซึ่งด้วยความที่งานของเขามีดีไซน์สวยงาม เป็นงานที่เน้นความประณีตทุกชิ้น ทำให้มีลูกค้าให้ความสนใจในสินค้าของเขามากขึ้นเรื่อย ๆ จนเป็นที่รู้จักในวงกว้าง

“งานเย็บกระเป๋าหนังที่ทำอยู่นั้น เป็นงานที่ต้องเน้นงานดีไซน์ตามแฟชั่น เน้นความประณีตในการทำ และสร้างจุดเด่นของสินค้าไม่ให้ซ้ำใคร และจะมีการเปลี่ยนรูปแบบใหม่ทุก 3 เดือน ที่สำคัญเราเลือกใช้หนังวัวเกรดเอ เพื่อความสวยงามและทนทานแข็งแรงในการใช้งาน สินค้าของเราจึงได้รับความนิยม”

รูปแบบดีไซน์ ที่จะต้องอัพเดทตามแฟชั่นเรื่อย ๆ นั้น อิทธิเดชมักจะดูแบบกระเป๋าแฟชั่นจากนิตยสารและอินเทอร์เน็ต เพื่อตามแนวแฟชั่นให้ทันตลอด ดูแล้วก็นำมาประยุกต์ทำให้เป็นสไตล์ของตัวเอง

วัตถุดิบอย่างหนังวัว อิทธิเดชแนะนำว่า ควรเลือกใช้หนังวัวแท้ เป็นหนังประเภทหนังออยล์และชามัวส์ เพราะถือว่าเป็นหนังที่มีคุณภาพดี และการเลือกนั้นจะต้องเลือกใช้หนังที่หนาแบบบาง และแบบหนาปานกลาง ไม่ควรใช้แผ่นหนังที่หนามากไปเพราะเวลาทำเป็นกระเป๋าออกมาจะทำให้กระเป๋านั้นหนักเกินไป ส่วนในเรื่องของแหล่งที่ซื้อหนังนั้นเขาจะไปซื้อที่โรงงานฟอกหนัง ที่ จ.สมุทรปราการ

สำหรับอุปกรณ์ที่ต้องมีในการทำกระเป๋าหนังนั้น หลัก ๆ มีดังนี้คือ... ค้อน, เข็มเย็บหนัง, ด้ายเทียน, เครื่องเจาะนำร่องก่อนเย็บขนาดต่าง ๆ, กรรไกร เป็นต้น

ขั้นตอนการทำกระเป๋าหนัง เริ่มจากการออกแบบรูปทรงกระเป๋าตามที่ต้องการ จากนั้นก็วาดเป็นแพทเทิร์นลงกระดาษ แล้วก็ตัดแพทเทิร์นเป็นชิ้น ๆ ออกมา ขั้นต่อไปก็นำแพทเทิร์นไปวางทาบบนแผ่นหนัง ใช้กาวทา แล้วทำการตัดหนังออกมาเป็นชิ้น ๆ ตามแพทเทิร์น

แพทเทิร์น 1 ชิ้นจะทาบแผ่นหนังแล้วตัดออกมา 2 ชิ้น คือแผ่นหนังที่หนาปานกลาง กับแผ่นหนังแบบบาง นำทั้งสองแผ่นมาทำการประกบติดกัน ทายึดด้วยกาวยาง จากนั้นก็ใช้ด้ายเย็บให้เรียบร้อย ซึ่งสาเหตุที่ต้องใช้หนัง 2 แผ่นเย็บติดกันก็เพื่อความสวยงามของชิ้นงาน

เมื่อได้แพทเทิร์นทุกชิ้นแล้ว ก็นำมาประกอบเข้าด้วยกัน จากนั้นก็ทำการเย็บ โดยเริ่มเย็บจากด้านข้างกระเป๋าก่อน เมื่อทำการเย็บจนเสร็จเรียบร้อยเป็นรูปร่างกระเป๋าแล้ว จากนั้นก็นำหูกระเป๋ามาเย็บติดเข้าไป แล้วก็ทำการตกแต่งเก็บรายละเอียดในส่วนของภายนอกตามแบบที่ต้องการ และขั้นตอนสุดท้ายก็เป็นการใช้สีที่ใช้ทาขอบหนังโดยเฉพาะ ทาขอบกระเป๋าให้เรียบร้อย

อิทธิเดชบอกว่า การเย็บนั้นจะต้องใช้ตัวเจาะนำร่องตอกก่อน เพื่อให้ง่ายต่อการเย็บ ที่สำคัญระยะห่างระหว่างรูเย็บนั้นจะต้องเท่ากัน ทำให้งานประณีตสวยงาม ส่วนรูปแบบการเย็บจะใช้เทคนิคการเย็บแบบด้น

ราคากระเป๋าหนังของอิทธิเดชมีตั้งแต่ 1,000-4,500 บาท ขึ้นอยู่กับรูปแบบและความยากง่ายในการทำ โดยต้นทุนจะประมาณ 60-70% ของราคาที่ตั้งขาย ซึ่งปัจจุบันเขามีแบบกระเป๋าให้เลือกกว่าร้อยแบบ นอกจากนั้น ยังมีสินค้าเครื่องหนังอื่น ๆ เช่น กระเป๋าสตางค์ เข็มขัด พวงกุญแจ ซองใส่โทรศัพท์มือถือ

สนใจกระเป๋าหนังดีไซน์ของอิทธิเดช สามารถแวะไปดูได้ที่เลขที่ 66 ถนนพระอาทิตย์ แขวงชนะสงคราม เขตพระนคร กรุงเทพฯ และที่ตลาดนัดจตุจักร โครงการ 7 ซอย 4 เบอร์โทรศัพท์คือ 08-9885-3381, 08-9207-1207 ซึ่งสำหรับคนมีไอเดียดี ๆ บางทีการฝึกทำ “กระเป๋าหนัง” อาจจะเป็นอาชีพที่ใช่เลยก็ได้.

บดินทร์ ศักดาเยี่ยงยงค์ : รายงาน/จเร รัตนราตรี
เครดิตจาก เดลินิวส์

‘งานไม้เพนท์สี’


ฝีมือดี-แบบเด่น...ยังฉลุย !!

งานฝีมือจากวัสดุประเภทไม้ แม้ไม่ใช่งานใหม่ แต่ก็ใช่ว่าตลาดจะถึงทางตัน จุดสำคัญอยู่ที่การรู้จักหาตลาด เน้นคุณภาพ อย่างเช่น “งานไม้เพนท์สี” สารพัดไอเดีย ที่เป็นอีกตัวอย่าง “ช่องทางทำกิน” รายนี้...

“วีรพงษ์ ชาติทอง” เจ้าของงานเล่าว่า เริ่มทำอาชีพประดิษฐ์งานไม้เพนท์สีนี้มาตั้งแต่สมัยเรียน ตั้งแต่ปี 2544 รับจ้างทำพวงกุญแจ งานไม้ชิ้นเล็ก ๆ ต่อมาเริ่มผลิตงานที่ใหญ่ขึ้น ประเภทของตกแต่งบ้าน ของขวัญ ของชำร่วย ส่วนใหญ่ลูกค้ามาสั่งทำสำหรับนำไปแจก ที่เรียกว่าของพรี เมี่ยม พอเก็บเงินได้ก้อนหนึ่งจึงคิดเปิดร้านรับทำและผลิตสินค้ายี่ห้อของตนเองเป็นเรื่องเป็นราว ใช้ชื่อว่า วู๊ดดี้คร้าฟ ผลิตสินค้าประเภทที่ใส่กระดาษชำระ ที่แขวนผ้าเช็ดมือและผ้าเช็ดตัว กล่องใส่ของ รวมถึงป้ายชื่อ ป้ายแขวน และกระดานดำ เป็นต้น ซึ่งสินค้าจะมีเอกลักษณ์ที่ตัวการ์ตูนรูปสัตว์ต่าง ๆ รวมถึงมีจุดเด่นเรื่องของความคงทน และสีสันที่ใช้ในงาน

“ระยะแรกก็มีปัญหาเรื่องของตลาด เพราะเรียนมาแต่ทางด้านศิลปะ จึงตัดสินใจเข้าร่วมกับทางโอทอป ข้อดีคือนอกจากเราจะได้เปิดตัวสินค้าตามงานแสดงสินค้าต่าง ๆ ก็ยังมีโอกาสได้เข้าอบรมเรื่องการบริหารงานอีกด้วย ตรงนี้ถือว่าสำคัญ เพราะถือเป็นปัญหาใหญ่ของคนทำงานประดิษฐ์” เจ้าของงานกล่าว

สินค้าที่ผลิตขึ้นเป็นงานทำมือแทบทุกชิ้น การลงสีบนชิ้นงานก็ใช้แรงงานคนเป็นสำคัญ ทำให้สินค้าแต่ละชิ้นแทบไม่ซ้ำกัน เรื่องของคุณภาพและความคงทนก็จะเน้นเป็นพิเศษ แม้ขณะนี้จะถูกสินค้าจากประเทศจีนเข้ามาตีตลาดบ้าง แต่ก็ยังถือว่าไม่กระทบ เพราะลูกค้าเปรียบเทียบแล้วจะเข้าใจว่าทำไมราคาถึงแพงกว่าของจีน

งานไม้เพนท์สีปัจจุบันมีแบบมากมาย เพราะต่อยอดไอเดียออกไปได้เรื่อย ๆ เรียกว่าไม่มีทางตัน แต่ส่วนใหญ่ที่ขายดีจะเป็นงานตุ๊กตารูปสัตว์ อาทิ ไก่ ช้าง หมี ราคาขายเริ่มตั้งแต่ชิ้นละ 15 บาทจนถึง 300 บาท ขึ้นกับขนาดและรายละเอียดของชิ้นงาน โดยลูกค้าส่วนใหญ่มีทั้งกลุ่มของตกแต่งบ้าน ของขวัญ ของที่ระลึก ไปจนถึงกลุ่มลูกค้าประเภทบริษัท เรียกว่ามีงานให้ทำตลอดทั้งปี แต่จะขายดีมากขึ้นในช่วงเทศกาลต่าง ๆ

ทุนเบื้องต้น วีรพงษ์บอกว่า ตอนแรกใช้ไปประมาณ 50,000 บาท เป็นค่าเครื่องมือ อาทิ เลื่อยไฟฟ้าหรือเครื่องตัดไม้, ปืนยิงกาวซิลิโคน, แปรงลูกกลิ้ง, พู่กัน, เครื่องมือช่างไม้ เช่น ค้อน, ตะปู, สิ่ว เป็นต้น ที่เหลือคือไม้เอ็มดีเอฟ หรือที่รู้จักกันดีในชื่อไม้อัด (ไม้ผสมกระดาษ) ข้อดีของไม้ประเภทนี้คือ น้ำหนักเบา ไม่มีเส้นในเนื้อไม้ และสีอะคริลิก, สีน้ำ, สีโปสเตอร์, โดยแหล่งซื้อวัตถุดิบหลัก ๆ คือแถวย่านบางโพ จะมีครบหมด

ขั้นตอนการทำ จะมีรายละเอียดแตกต่างกันในแต่ละชิ้นงาน แต่ขั้นตอนหลัก ๆ คือเริ่มจากร่างแบบ วาดแบบชิ้นงานที่ต้องการลงบนกระดาษ หรือที่เรียกว่าการสเกตช์ภาพ เพื่อใช้แบบร่างนั้นเป็นแพตเทิร์นสำหรับตัดไม้ให้เป็นส่วนประกอบต่าง ๆ จากนั้นนำแบบที่ร่างไว้มาทำการทาบลงบนไม้เอ็มดีเอฟที่เตรียมไว้ ใช้เลื่อยหรือเครื่องตัดขึ้นรูปตามแบบ เมื่อได้แล้วให้นำมาทาสีพื้นด้วยสีอะคริลิก หรือสีน้ำ ด้วยแปรงลูกกลิ้ง เหตุที่เลือกใช้แปรงลูกกลิ้งเพราะเมื่อทาไปบนไม้จะเกิดพื้นผิวไม่เรียบเป็นลอน ช่วยสร้างรายละเอียดและมิติให้ชิ้นงานน่าสนใจขึ้น สำหรับการลงสีพื้นนี้ ต้องพยายามดูภาพรวมของสีที่จะใช้ โดยพยายามคุมโทนให้อยู่ในกลุ่มเดียวกัน

เมื่อลงสีพื้นเสร็จ ต่อไปเป็นขั้นตอนของการลงเส้น หรือเติมจุดเด่นลงบนชิ้นงาน อาทิ หมวก ลูกตา ปาก โดยใช้สีโปสเตอร์ เพราะจะได้สีที่เด่นชัด จากนั้นนำชิ้นส่วนต่าง ๆ ที่ลงสีเรียบร้อยมาผึ่งลมทิ้งไว้ให้แห้ง เมื่อแห้งสนิทก็นำส่วนต่าง ๆ มาประกอบเข้าด้วยกันด้วยปืนกาวซิลิโคน ทิ้งไว้ให้แห้ง นำมายึดติดถาวรด้วยนอตหรือตะปู จากนั้นทำการพ่นเคลือบแลกเกอร์ ก็เป็นอันเสร็จขั้นตอนการทำ “งานไม้เพนท์สี”

“วันนี้ตลาดงานไม้ถือว่ายังมีโอกาสโตได้อีกมาก แม้จะเกิดปัญหาการก๊อปปี้สินค้า หรือการถูกของจากจีนเข้ามาตีตลาด แต่ตลาดตรงนี้ก็ยังไปได้ สำคัญคือคนทำต้องเข้าใจกลุ่มเป้าหมาย งานที่ผลิตต้องมีคุณภาพ และต้องพัฒนาแบบสินค้าใหม่ ๆ ตลอดเวลา ห้ามหยุดนิ่ง เพราะตลาดงานไม้ เน้นแข่งขันกันที่แบบและคุณภาพของชิ้นงานเป็นสำคัญ” เจ้าของงานไม้เพนท์สีรายนี้ระบุ ซึ่งใครสนใจอาชีพด้านนี้อยู่ก็ลองพิจารณากันดู

ส่วนใครสนใจติดต่อกับ วีรพงษ์ ก็ติดต่อได้ที่เลขที่ 62/13-14 หมู่ 8 ถนนกรุงเทพ-นนท์ ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี โทร. 0-2526-5217 e-mail: woodycrabts@hotmail.com

ศิริโรจน์ ศิริแพทย์ : รายงาน/จเร รัตนราตรี : ภาพ เครดิตจาก เดลินิวส์

'ซีฟู้ดกระทะ' จุดขายของร้าน 'บุฟเฟ่ต์'


ร้าน “บุฟเฟ่ต์หมูกระทะ” กลับมาเป็นธุรกิจร้านอาหารที่เฟื่องฟูอีกในระยะนี้ ซึ่งก็มีทั้งร้านเล็ก-ร้านใหญ่ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด การแข่งขันจึงสูง แต่ละร้านจึงต้องพยายามสร้างจุดขาย และกับการเพิ่มวัตถุดิบจำพวก “ซีฟู้ด” ปิ้งย่างกันหอม ๆ อย่างร้านที่ “ช่องทางทำกิน” จะนำเสนอวันนี้ ก็ดึงดูดลูกค้าได้ดี....

ศุภกิตติ ก้องเกียงไกร หรือ “กิต” วัย 27 ปี ผู้จัดการ ร้านหมูกระทะนานา เล่าว่า ธุรกิจหมูกระทะเป็นกิจการครอบครัว เปิดมาประมาณ 4 ปี ตอนนี้มี 5 สาขา บางซ่อน หนองแขม หมอชิต บางรัก รังสิต โดยญาติพี่น้องช่วยกันดูแลแต่ละสาขา ซึ่งก็มีลูกค้าอุดหนุนไม่ขาดสาย โดยเฉพาะช่วงเย็นและค่ำวันเสาร์-อาทิตย์

“บุฟเฟ่ต์ที่ร้านคิดหัวละ 109 บาท แต่ถ้ามาก่อน 5 โมงเย็นหัวละแค่ 99 บาท ลูกค้าส่วนมากชอบตักกุ้งเป็น ๆ ซึ่งมีพนักงานคอยย่างให้ด้วย นี่ก็เป็นจุดขายหนึ่งของเรา ซึ่งแม้พวกซีฟู้ดทุนจะสูง อย่างกุ้งก็จะใช้กุ้งแม่น้ำสด ๆ เป็น ๆ แต่รวม ๆ และทางร้านก็พออยู่ได้จากกำไรประมาณ 20-30% และกำไรเครื่องดื่ม”

กิตบอกว่า ธุรกิจนี้ต้องสร้างจุดเด่นดึงดูดลูกค้าเพื่อให้แข่งขันได้ ของที่ใช้ต้องมีคุณภาพ หลากหลาย จะมีทั้งหมูหมักซอส หมูเด้ง หมูสไลส์ หมูทรงเครื่อง เครื่องในหมู เช่น ตับ เซี่ยงจี๊ ไส้อ่อน มีเนื้อหมักงา เนื้อหมักพริกไทยดำ เนื้อสด ลูกชิ้นหมู ลูกชิ้นเนื้อ เบคอน แฮม บาโลน่า ไก่สด ไก่หมัก ไก่เครื่องเทศเกาหลี ฯลฯ

ส่วนพวกซีฟู้ดก็จะมีทั้งกุ้งเป็น ๆ ที่มีพนักงานย่างให้ มีหอยต่าง ๆ ปลาหมึกสด ปลาหมึกหลอด ปลาหมึกกรอบ แมงกะพรุน ปลาสวรรค์ ปลาแซลมอน ปลาโลนัน ลูกชิ้นปลา ลูกชิ้นทะเล ปูอัด เต้าหู้ปลา ฯลฯ

โซนผักของที่ร้านก็จะมีกลุ่มที่มีราคาสูง อย่างบร็อกโครี่ ตลอดจนเห็ดฟาง เห็ดนางฟ้า เห็ดหูหนู ผักกาดขาว กะหล่ำปลี ผักบุ้ง โหระพา ข้าวโพดอ่อน ขึ้นฉ่าย ต้นหอม แครอท ฯลฯ และรวมถึงวุ้นเส้น

จุดเด่นนั้นนอกจากจะมีวัตถุดิบหลากหลาย แบ่งเป็นโซน รวมแล้ว 80 กว่าอย่าง ยังออกอาหารไม่อั้น จะทยอยออกมาเรื่อย ๆ และจะไม่ทำแล้วเก็บไว้ จะเน้นของสดและใหม่ ไม่มีทิ้งค้างไว้จนเย็นไม่มีรสชาติ ซึ่งลูกค้าขาประจำจะรู้ว่าอาหารจะทยอยออกมาเรื่อย ๆ จะไม่ตักตุนออกไปเยอะ เพราะทุกอย่างจะมีเติมให้ตลอด

สำหรับโซนของกินเล่นก็จะมีหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นกุ้งอบวุ้นเส้น ปอเปี๊ยะทอด ทอดมันปลากราย ทอดมันกุ้ง ปีกไก่ทอดน้ำปลา ไก่ทอด เอ็นไก่ทอด ขนมปังหน้าหมู หมูทอด หมูแดดเดียว ไส้กรอกไก่-หมูทอด ปลาหมึกวงชุบแป้งทอด ขนมจีบ แหนมปลาทอด ก๋วยเตี๋ยวลุยสวน หมูยอทอด เฟรนช์ฟรายด์

นอกจากนี้ก็ยังมียำต่าง ๆ ที่ในแต่ละวันจะสลับหมุนเวียนกันไปไม่ซ้ำซาก เช่น ยำวุ้นเส้น ยำรวมมิตร ยำเล็บมือนาง ยำไส้กรอก ยำลูกชิ้น ยำสามรส ยำหมูยอ ยำมาม่า ยำหอย ยำปลาหมึก บะหมี่หยก-เหลือง

ถ้าใครชื่นชอบอาหารญี่ปุ่น ที่ร้านนี้ก็เอาใจด้วยการมีโซนอาหารญี่ปุ่นบริการ เป็นประเภทข้าวปั้น เกี๊ยวซ่า กิมจิ และรวมถึงยังมีเมนูข้าวผัด ซึ่งก็มีทั้งข้าวผัดกุ้ง-หมู-ไก่-แฮม-แหนม ส่วนโซนของหวาน ก็มีทั้งแบบแห้งและน้ำ หรือหากลูกค้าชอบผลไม้ที่นี่ก็ไม่ขาด มีผมไม้ตามฤดูกาลเรียงรายให้หยิบได้ตามใจชอบ

อีกโซนเด็ดของร้านที่ขาดไม่ได้คือ โซนน้ำจิ้มรสเด็ดที่ตั้งแยกไว้เฉพาะ มีทั้งน้ำจิ้มซีฟู้ดรสเข้มข้นจัดจ้าน น้ำจิ้มสุกี้ ใช้ซอสพริกไทยเป็นหลักปั่นกับส่วนผสมสูตรเฉพาะ ใส่น้ำมันงาและงาขาวให้ได้รสกลมกล่อม มีทั้งแบบของเด็กและผู้ใหญ่ และรวมถึงมีน้ำจิ้มแจ่วด้วย

กิตบอกว่า การทำธุรกิจนี้ปัญหาและอุปสรรคก็มีเกือบทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของลูกค้า และลูกจ้าง พ่อครัวแม่ครัว ซึ่งการบริหารลูกน้องค่อนข้างเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องดูแลให้ดี และก็ยังมีปัญหาอะไรอีกหลาย ๆ เรื่องที่ต้องแก้กันไปตามสถานการณ์
“ของที่ให้กับลูกค้าต้องมีคุณภาพ และอย่าลืมเน้นเรื่องความสะอาด เพราะลูกค้าส่วนใหญ่จะมองเรื่องความสะอาด กลัวว่าทานแล้วจะท้องเสียไหม อีกอย่างคือจะต้องเน้นทำเล ซึ่งก็จะต้องเน้นมาก และการที่ครอบครัวทำธุรกิจนี้มาถึงจุดนี้ได้ ที่สำคัญคือต้องใช้สมองและทำการตลาดให้ดี” กิตติแนะนำทิ้งท้าย

ร้านหมูกระทะนานาที่มี “ซีฟู้ด” เป็นอีกจุดขายสำคัญ ร้านที่กิตดูแลอยู่นั้นอยู่แถวรังสิต อยู่ตรงข้ามกับโรงพยาบาลนวนคร เปิดร้านตั้งแต่บ่าย 3 – 5 โมงเย็นทุกวัน เบอร์ โทร.ของกิตคือ โทร.08-5444-9940

เชาวลี ชุมขำ :รายงาน / จเร รัตนราตรี :ภาพ

คู่มือลงทุน...ซีฟู้ดกระทะ
ทุนอุปกรณ์ ขึ้นอยู่กับขนาดของร้าน
ทุนวัตถุดิบ ประมาณ 70-80% ของราคา
รายได้ ราคาหัวละ 99 และ 109 บาท
แรงงาน ขึ้นอยู่กับขนาดของร้าน
ตลาด ทำเลร้านริมถนน-ย่านชุมชน
จุดน่าสนใจ ซีฟู้ดดึงดูดลูกค้าบุฟเฟ่ต์ได้ดี

เครดิต จาก เดลินิวส์



'ปาท๋องโก๋เกลียว' สูตรปักษ์ใต้ขายคู่ 'สังขยา'


“ปาท่องโก๋” ปัจจุบันมีขายไม่เฉพาะช่วงเช้าเท่านั้น แต่มีการทำขายให้ลูกค้าซื้อทานได้ทุกเวลา เช้า สาย บ่าย เย็น หรือแม้กระทั่งดึกดื่นมืดค่ำ และวันนี้ทีม “ช่องทางทำกิน” ก็จะเสนอข้อมูลอาชีพขาย “ปาท่องโก๋เกลียวปักษ์ใต้” ที่ทานกับ “สังขยา” ซึ่งก็ขายได้ทุกช่วงเวลา และขายที่ไหนก็ได้ไม่เฉพาะปักษ์ใต้

อ้อยอัจฉรา แซ่ตั้ง หรือ คุณแอน และ บงกช พาระสิงห์ หรือ คุณกอล์ฟ เป็นเจ้าของร้าน “นายกอล์ฟปาท่องโก๋เกลียวปักษ์ใต้” ขายมาประมาณ 3-4 ปีมาแล้ว โดยเริ่มจากทำกันเล็ก ๆ แล้วขยับขยายขึ้นเรื่อย ๆ โดยสูตรนั้นเป็นของครอบครัวของคุณกอล์ฟ เป็นสูตรต้นตำรับจากจังหวัดภูเก็ต ซึ่งทำกันมานับสิบๆ ปี นำมาดัดแปลงจากปาท่องโก๋เกลียวที่ตัวเล็ก ๆ โดยทำให้มีขนาดใหญ่ขึ้น เน้นที่กรอบนอก นุ่มใน ไม่อมน้ำมัน

สำหรับสูตรการทำ “ปาท่องโก๋เกลียว” คุณกอล์ฟแจกแจงว่า การทำปาท่องโก๋ประมาณ 70 ตัว จะใช้แป้งสาลี 5 กก., ผงฟู 2 ช้อนชา, เกลือ 15 ช้อนชา, น้ำตาลทราย 200 กรัม, น้ำเปล่า 4 ลิตร, น้ำมันพืช 500 กรัม

วิธีทำแป้งปาท่องโก๋ ละลายน้ำเปล่า ผงฟู น้ำตาลทราย เกลือ ให้เข้ากัน จากนั้นเทแป้งสาลี และน้ำมันพืชลงนวดรวมกัน ซึ่งใช้มือนวด ใช้เวลานวดประมาณ 15 นาที อย่านวดนานกว่านี้ เพราะแป้งจะเหนียวเกินไป

ส่วนถ้าจะทำเป็น “ซาลาเปาทอด” ซึ่งร้านนี้ก็ทำขายด้วย สูตรแป้งซาลาเปานั้นก็ใช้สูตรเดียวกับแป้งปาท่องโก๋ แต่สัดส่วนน้ำตาลทรายเพิ่มเป็น 800 กรัม ส่วนวิธีการทำจะคล้าย ๆ กับแป้งปาท่องโก๋เกลียว

การปั้นแป้งปาท่องโก๋เกลียว หรือแป้งซาลาเปา แบ่งแป้งก้อนละประมาณ 70-72 กรัม โดยปาท่องโก๋เกลียวจะปั้นให้แป้งเป็นแบบยาว ประมาณ 15-20 เซนติเมตร ขณะที่แป้งซาลาเปาจะเป็นแบบกลม ขนาดเส้นผ่าศูนย์ 10 เซนติเมตร เมื่อปั้นเสร็จก็นำลงทอดในกระทะซึ่งตั้งน้ำมันพืชให้ร้อนไว้ ซึ่งใช้เวลาทอดราว 10 นาที

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะทอดปาท่องโก๋เกลียว หรือซาลาเปา ต้องทอดสอบเสียก่อนว่าน้ำมันร้อนใช้ได้หรือยัง โดยเจียดแป้งเล็กน้อยลงทอด หากทอดไปชั่วครู่แล้วดูว่าแป้งออกสีแดง ๆ ก็เป็นอันใช้ได้

คุณแอน และคุณกอล์ฟ ร่วมกันบอกว่า ในการขาย จะต้องกะปริมาณการขายปาท่องโก๋หรือซาลาเปาในแต่ละวันให้ดี ต้องกะแป้งของทั้งสองประเภทให้เหมาะสม เพราะแป้งสดนั้นจะมีอายุเพียงแค่ 5-6 ชั่วโมงเท่านั้น ค้างคืนไม่ได้ เพราะไม่ได้ใส่สารกันบูด และต้องค่อย ๆ ทยอยทอด ไม่ทอดคราวละปริมาณมาก ๆ

ต่อไปเป็นสูตร “สังขยาใบเตยสด” ซึ่งขายคู่กับปาท่องโก๋เกลียวหรือซาลาเปา ใช้สูตรกะทิสด 5 กก., ไข่แดง (ไข่ไก่) 30 ฟอง, น้ำตาลปี๊บ 1 กก., แป้งข้าวโพด 300 กรัม, นมสด 1 กระป๋อง, เกลือ 20 ช้อนชา, น้ำใบเตยคั้น 1 ลิตร วิธีทำก็นำกะทิสดตั้งไฟ จากนั้นใส่ส่วนผสมต่าง ๆ ลงไป แต่ไข่แดงไข่ไก่นั้นจะต้องตีให้เข้ากันเสียก่อนที่จะใส่ลงไป ขณะที่น้ำใบเตยให้เทใส่เป็นขั้นตอนสุดท้าย และใช้เวลากวนอุ่นสังขยาประมาณ 1 ชั่วโมง

นอกจากนี้ยังมี “สังขยาชานมเย็น” วิธีทำคือชงน้ำชาดำเย็น 1 ลิตร กับนมข้น 1 กระป๋องให้เข้ากัน แทนการใช้น้ำใบเตยสด ส่วนสัดส่วนวัตถุดิบอื่น และวิธีทำของสังขยาชานมเย็น ก็จะเหมือนสังขยาใบเตยสดหมดทุกอย่าง เพียงแต่ต้องลดน้ำตาลปี๊บลงเหลือ 800 กรัม เพราะได้ความหวานจากนมข้นส่วนหนึ่งแล้ว

การขายให้ลูกค้านั้น เมื่อลูกค้าสั่งปาท่องโก๋เกลียว หรือซาลาเปา ก็ให้ตัดแบ่งเป็นชิ้น ๆ ขนาดพอคำใส่กล่อง ส่วนสังขยานั้นก็ตักแบ่งใส่กล่องพลาสติกกล่องละ 50 กรัม ขายในราคาชุดละ 30 บาท

จากสัดส่วนแป้ง 5 กก. ซึ่งทำได้ราว 70 ชุด ขายชุดละ 30 บาท ก็จะได้ 2,100 บาท โดยต้นทุนที่รวมทุนสังขยาด้วย จะตกประมาณ 1,500 บาทขึ้นไป หรือเบ็ดเสร็จแล้วจะมีกำไร 500-600 บาท ต่อ 70 ชุด

ใครสนใจอาชีพนี้ ใครสนใจสินค้าของคุณแอนและคุณกอล์ฟ ระหว่างวันที่ 16-21 ก.ค. 2552 นี้ ไปดู ไปชิม ได้ที่ชั้นจี ศูนย์การค้าเดอะมอลล์ บางแค และทั้งคู่ยังรับออกร้านนอกสถานที่ด้วย โดยติดต่อได้ที่ โทร.08-1062-0741 และ 08-1433-5166 ทั้งนี้ นี่ก็เป็นอีก “ช่องทางทำกิน” ที่ทำเงินได้หลายแบบ และได้ทั่วไป

สุภารัตน์ ยอดศิริวิชัยกุล :รายงาน


คู่มือลงทุน...ปาท่องโก๋เกลียว-สังขยา
ทุนอุปกรณ์ ประมาณ 15,000 บาทขึ้นไป
ทุนวัตถุดิบ ประมาณ 70% ของราคาขาย
รายได้ ราคาขายชุดละ 30 บาท
แรงงาน 1 คนขึ้นไป
ตลาด ย่านอาหาร, ชุมชน, งานออกร้าน
จุดน่าสนใจ ทำขายได้ทั่วไป-ขายได้ตลอดวัน
เครดิต จาก เดลินิวส์

‘ตู้(เรือ)ปลา’ งานขายไอเดียราคาดี


สินค้าที่มีกลุ่มลูกค้าเป็นคนชอบเลี้ยงสัตว์ยังทำเงินได้ทุกสภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งก็รวมถึง “ตู้ปลา” ยิ่งหากดัดแปลงให้แตกต่างแปลกใหม่ได้ก็จะยิ่งดี อย่างเช่นรายที่ทีม “ช่องทางทำกิน” จะนำเสนอวันนี้....

“ธนากร วิโนทพรรษ์” จากคนที่เรียนด้านกฎหมาย แล้วใช้เวลาว่างไปทำงานเกี่ยวกับเซรามิกกับเพื่อนพี่สาว ต่อมาผันตัวทำธุรกิจเกี่ยวกับศิลปะกระจก สลักลาย พ่นทราย ออกแบบทำบานประตู หน้าต่าง ฯลฯ และเป็นเจ้าของร้าน “รอยทราย” ภายหลังมีความคิดใหม่โดยเปลี่ยนแปลงนำกระจกมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นกรอบรูป โคมเทียน โคมไฟ ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี และต่อมายังคิดทำสินค้าใหม่อีกชนิด

คิดทำ “ตู้ปลาเรือปลา” อีกสินค้าที่น่าสนใจ

ธนากรเล่าว่า งาน กระจกที่ทำนั้นจะเป็นงานศิลปะเฉพาะ งานทุกชิ้นจะเน้นการออกแบบและทำขึ้นมาใหม่ แต่พอทำอยู่ระยะหนึ่งเริ่มมีคู่แข่งทางการตลาดมากขึ้น ในปี 2540 จึงย้ายไปเปิดร้านอยู่ที่พนัสนิคมซึ่งเป็นบ้านเกิด พอในปี 2543 ก็เริ่มคิดนำกระจกมาทำเป็นผลิตภัณฑ์อื่น ๆ และต่อมาก็ปิ๊งไอเดียทำ “ตู้ปลา” ที่เป็น “เรือ” ที่แตกต่างจากตู้ปลาที่มีขายกันอยู่ทั่วไป เป็นทางเลือกให้กับผู้ที่ชอบเลี้ยงปลาและต้องการตกแต่งบ้าน

สำหรับวัสดุอุปกรณ์ในการทำตู้ปลาเรือปลานั้น หลัก ๆ ก็มี กระจกสี, กระจกใสความหนา 6 มม., กระจกเงา, เส้นทองเหลือง, ฟอยส์ทองแดง, มีดตัดกระจก, ตะกั่ว, หัวแร้ง เป็นต้น

กระจกสีนั้นสามารถใช้เศษกระจกที่เหลือใช้มาทำก็ได้เพื่อเป็นการลด ต้นทุน

ขั้นตอนการทำตู้ปลาเรือปลา เริ่มจากการออกแบบรูปทรงเรือลงบนกระดาษก่อน จากนั้นเมื่อได้แบบตามที่ต้องการแล้วก็เริ่มทำการตัดกระจกใสมาทำเป็นตัวตู้ปลา โดยตัดให้เป็นรูปตัวแอลหงาย ส่วนด้านหลังให้ใช้กระจกเงา เพื่อให้เกิดการสะท้อนเงาในตู้เพื่อเพิ่มความสวยงาม

เมื่อได้ชิ้นส่วนกระจกที่จะใช้ทำเป็นตู้ปลาครบแล้ว ก็นำทั้งหมดประกอบติดกัน โดยใช้ซิลิโคนยิงเชื่อมให้แน่น หลังจากที่ประกอบตู้เรียบร้อยแล้วก็ทำการเทสต์ตู้โดยใส่น้ำลงไปในตู้ ทิ้งไว้เพื่อให้แน่ใจว่าตู้ไม่มีรอยรั่ว

จากนั้นก็มาทำโครงเรือสำหรับครอบตู้ปลา เริ่มจากการใช้เส้นทองเหลืองวางเป็นโครงหลัก ทำการดัดให้เป็นรูปเรือที่ต้องการ แล้วทำการเชื่อมยึดให้แน่น เมื่อได้โครงเรือแล้วก็มาถึงขั้นตอนการติดกระจก โดยจะตัดกระจกสีเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าชิ้นเล็ก ๆ ทำการลบคมให้เรียบร้อย ห่อด้วยเส้นฟอย
ส์ทองแดงให้รอบกระจก จากนั้นก็นำมาประกอบติดกับโครงเรือ ใช้ตะกั่วและหัวแร้งเชื่อมติดให้แน่น ประกอบจนเป็นรูปเรือตามแบบ

หลังจากทำการเชื่อมต่อเสร็จเรียบร้อย ก็นำน้ำยาแพทติน่า (patina) มาทาลงบนเส้นต่อที่ใช้ตะกั่วเชื่อมเพื่อให้เป็นสีดำ ซึ่งการทำเช่นนี้จะทำให้รูปลักษณ์ชิ้นงานออกแนวโบราณ ดูมีคุณค่ายิ่งขึ้น

ส่วนสีของกระจกที่ใช้นั้นก็ขึ้นอยู่กับการดีไซน์ของแต่ละคน

ขั้นตอนต่อไป นำโครงเรือที่เสร็จเรียบร้อยไปล้างทำความสะอาดด้วยผงซักฟอกแล้วตากแดดให้แห้ง เพื่อล้างรอยตะกั่วและสิ่งสกปรกที่ติดกระจกออกให้กระจกใสดูสวยงาม จากนั้นก็นำมาครอบใส่ตู้ปลาที่ทำเตรียมไว้ ทำการตกแต่งตู้ปลาให้สวยงาม แล้วติดตั้งไฟใส่เข้าไป เท่านี้ก็จะได้ตู้ปลาที่เป็นรูปเรือตามที่ต้องการ

ตู้ปลารูปเรือ หรือ “ตู้ปลาเรือปลา” ไอเดียของธนากรนี้ เป็นทั้งตู้เลี้ยงปลา และเป็นของแต่งบ้านไปในตัว ซึ่งในการทำออกจำหน่ายนั้นก็มีหลายขนาด โดยราคาขายก็มีตั้งแต่ 6,000 บาทขึ้นไป ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับขนาดของชิ้นงานและการตกแต่ง ในขณะที่ต้นทุนนั้นอยู่ที่ประมาณ 70-80% ของราคาขายแต่ละชิ้น

การทำอาชีพหรือการสร้างชิ้นงานลักษณะนี้ อาศัยฝีมือช่างบวกกับศิลปะ-ความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งอาจจะดูว่าทำได้ไม่ง่ายนัก แต่จริง ๆ แล้วก็สามารถฝึกฝนกันได้ไม่ยาก และสามารถเป็น “ช่องทางทำกิน” ที่ดี

ใครสนใจงานของธนากร ร้านของเขาอยู่ที่เลขที่ 16 จันทร์อำนวย อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี โทร. 08-1762-2546, 0-3846-2345 นอกจากตู้ปลารูปเรือแล้ว ยังมีงานกระจกที่น่าสนใจอีกหลายอย่าง.

บดินทร์ ศักดาเยี่ยงยงค์ : รายงาน เครดิตจาก เดลินิวส์

"น้ำเต้าหู้ใบเตย" เขียว ๆ หอม ๆ ขายง่าย


“น้ำเต้าหู้” เครื่องดื่ม-อาหารทานเล่นพื้น ๆ ที่กลายเป็นอาหารสุขภาพ ยุคนี้ก็ยังขายได้ และบางคนสามารถพัฒนาจนเป็นอาชีพที่สร้างรายได้อย่างดี อย่างรายที่ทีม “ช่องทางทำกิน” มีข้อมูลมาบอกต่อวันนี้...

ณัฐปภัทร์ อาขุบุตร หรือ เจี๊ยบ เจ้าของสูตร “น้ำเต้าหู้ใบเตย” เล่าว่า ก่อนหน้านี้ทำงานเป็นพนักงานบริษัท แต่รายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย จึงต้องการหารายได้เพิ่ม ก็คิดที่จะขายน้ำเต้าหู้ในละแวกที่ทำงาน เพราะเห็นว่ามีหน่วยงานและบริษัทต่าง ๆ ที่มีคนทำงานมากพอสมควร รวมทั้งชาวบ้านแถวนั้นส่วนใหญ่เป็นคนจีน ซึ่งนิยมบริโภคน้ำเต้าหู้เป็นประจำอยู่แล้ว แต่เพื่อไม่ให้ซ้ำกับน้ำเต้าหู้แบบที่มีการทำขายกันทั่วไป จึงหาวิธีดัดแปลงเพื่อให้เกิดความแตกต่างขึ้น ก็มาสะดุดกับใบเตย คิดว่าถ้าใส่ใบเตยในน้ำเต้าหู้จะช่วยให้น้ำเต้าหู้กลิ่นหอม และมีสีเขียวแบบธรรมชาติ แล้วก็กลายเป็นจุดขายที่ดี กลายเป็น “น้ำเต้าหู้ใบเตย”

การทำน้ำเต้าหู้ใบเตย เจี๊ยบบอกว่า จะมีขั้นตอนการผลิตที่มากกว่าน้ำเต้าหู้ธรรมดา เพราะต้องเตรียมน้ำใบเตย ก่อนจะนำมาคั้นน้ำต้องล้างให้สะอาด นำมาปั่นและกรอง วิธีทำยุ่งยากกว่า แต่ก็คุ้มกับกลิ่นหอม น่ารับประทาน เมื่อทำน้ำเต้าหู้ใบเตยมาขายแรก ๆ ลูกค้าก็แปลกใจว่าทำไมน้ำเต้าหู้มีสีเขียวอ่อน ๆ และหอมมาก

นอกจากความหอม น่ารับประทาน ยังเหมาะสำหรับคนที่ไม่ชอบดื่มน้ำเต้าหู้เพราะไม่ชอบกลิ่นถั่วเหลือง แม้จะรู้ว่าถั่วเหลืองมีประโยชน์ต่อสุขภาพ แต่ไม่สามารถดื่มได้ ซึ่งเมื่อใส่ใบเตยก็สามารถดื่มได้ เนื่องจากกลิ่นหอมของใบเตยจะช่วยดับกลิ่นถั่วเหลืองที่ผู้บริโภคไม่ชอบ นี่ก็ถือว่าเป็นจุดขายของทางร้านด้วย

เช่นเดียวกับเครื่องสำหรับใส่ในน้ำเต้าหู้ คือ สาคู วุ้น ลูกเดือย ฟักทอง เม็ดแมงลัก ซึ่งสาคูกับวุ้นเป็นที่ชื่นชอบของลูกค้าเด็ก ๆ ส่วนลูกเดือย ฟักทอง เม็ดแมงลัก ต่างก็มีประโยชน์ ซึ่งผู้รักสุขภาพก็นิยมกันมาก โดยเฉพาะฟักทองของที่ร้านนั้นเป็นจุดเด่นเลยก็ว่าได้ ผู้บริโภคชอบมาก ซึ่งน้ำเต้าหู้ที่ทำขายทั่วไปส่วนใหญ่ไม่ค่อยใส่ฟักทองแบบนี้ เนื่องจากกรรมวิธีการทำค่อนข้างยุ่งยากและเสียเวลากว่าเครื่องประเภทอื่นๆ

ในการทำน้ำเต้าหู้ใบเตยขาย อุปกรณ์หลัก ๆ ก็มี... ถังต้ม, หม้ออะลูมิเนียม (ขนาด-จำนวนขึ้นอยู่กับปริมาณการทำ ), ผ้าขาวบาง (สำหรับกรองกาก), กระบวยตัก, ตะหลิว หรือไม้พายสำหรับคน, ตะแกรงสำหรับกรอง, ที่ตวงน้ำสแตนเลส ขนาด 1 ลิตร, ภาชนะใส่เครื่องผสม และเตาแก๊ส ที่เหลือก็เป็นอุปกรณ์เบ็ดเตล็ดอื่น ๆ

ส่วนวัตถุดิบที่ใช้ทำ... ถ้าใช้ถั่วเหลือง 1 กิโลกรัม จะใช้น้ำสะอาด 9 ลิตร, น้ำใบเตย ? ลิตร, น้ำตาลทรายแดง 1/2 กิโลกรัม, เกลือนิดหน่อย, น้ำตาลทรายขาว (ไว้เติมตอนขาย กะให้พอกับการขายแต่ละวัน)

ขั้นตอนการทำ และเคล็ดลับความอร่อยของ “น้ำเต้าหู้ใบเตย” ทางเจ้าของร้านบอกว่า อยู่ที่ขั้นตอนการทำ โดยเริ่มจากนำเมล็ดถั่วเหลืองไปแช่น้ำสะอาด 3 ชั่วโมง แล้วคัดถั่วเมล็ดเสียออก ให้สังเกตดูจากสีถั่ว ที่เสียจะมีเมล็ดสีน้ำตาลและนิ่ม เสร็จแล้วนำถั่วเหลืองเมล็ดดีไปล้างน้ำให้สะอาด 3-4 ครั้ง

เจี๊ยบเผยเคล็ดไม่ลับว่า ไม่ควรแช่ถั่วเหลืองเกิน 3 ชั่วโมง เพราะถ้าแช่เกินจากนี้จะทำให้เมล็ดถั่วคืนตัว เวลานำไปบดจะทำให้น้ำเต้าหู้เสียรูป และมีกากปน รสชาติจะไม่อร่อย

เอาถั่วที่ล้างสะอาดแล้วไปบดในเครื่องบด หรือเครื่องโม่ ซึ่งในการบดนั้นต้องเปิดน้ำหล่อเลี้ยงตลอดเวลา แล้วนำน้ำถั่วเหลืองที่ได้ไปกรองด้วยผ้าขาวบาง 3 ครั้ง จากนั้นก็นำไปต้มโดยใช้ไฟแรง พอเริ่มเดือดใส่น้ำใบเตยลงไป เมื่อน้ำถั่วเหลืองเดือด เคี่ยวต่อไป โดยลดมาใช้ไฟปานกลาง ระหว่างนั้นให้คนไปเรื่อย ๆ อีก 5 นาที จึงค่อยยกลงจากเตา เติมเกลือป่นครึ่งช้อนชา และน้ำตาล ชิมรสตามชอบ

และที่ขาดไม่ได้ก็คือ วุ้นสี, แมงลัก, ลูกเดือย, ฟักทอง และสาคู โดยวุ้นสีนั้น เจี๊ยบเลือกทำเองมากกว่าไปซื้อสำเร็จรูปตามท้องตลาด วิธีทำก็ไม่ยุ่งยาก นำน้ำตั้งบนเตาไฟ นำผงวุ้น 25 กรัมละลายในน้ำ 4 ลิตร ใส่น้ำหวานนิดหน่อยเพื่อเพิ่มสีสันให้สวยงามน่ารับประทาน เทน้ำที่ต้มเดือดแล้วลงในถาดสแตนเลส ใส่วุ้นที่เตรียมไว้ตามลงไป ใช้ช้อนคนให้ทั่วถาด รอให้เย็น วุ้นจะแข็งเป็นก้อน ใช้มีดตัดตามขนาดที่ต้องการ

เคล็ดลับความอร่อยของ “น้ำเต้าหู้ใบเตย” เจ้านี้ อยู่ที่ใช้ของสดใหม่ สะอาด ทำขายวันต่อวัน ไม่ค้าง แต่น้ำเต้าหู้ที่ขายนั้นลูกค้าซื้อไปแล้วก็สามารถเก็บไว้ในตู้เย็นได้นานประมาณ 1 สัปดาห์

เจี๊ยบบอกว่า อาชีพนี้สำหรับต้นทุนครั้งแรกลงทุนอุปกรณ์ประมาณ 30,000 บาท เป็นค่าอุปกรณ์ต่าง ๆ ส่วนในการขาย ราคาขายอยู่ที่ถุงละ 7 บาท ใส่เครื่องถุงละ 10 บาท โดยมีต้นทุนวัตถุประมาณ 60% ของราคา

ร้าน “น้ำเต้าหู้ใบเตย” ของเจี๊ยบอยู่ในกรุงเทพฯ ขายอยู่ที่หน้าธนาคารนครหลวง สวนมะลิ โดยเริ่มขายตั้ง 06.00 – 09.00 น. จันทร์ – ศุกร์ (หยุดเสาร์-อาทิตย์) อยากลองชิมแต่หาร้านไม่เจอก็สอบถามได้ที่ โทร.08-5979-0527 ส่วนใครจะลองนำสูตรไปฝึกทำขายบ้างก็อย่ารอช้า อาชีพนี้หากมีทำเลเหมาะสมยังไปได้สวย

คู่มือลงทุน...น้ำเต้าหู้ใบเตย

ทุนเบื้องต้น ประมาณ 30,000 บาท
ทุนวัตถุดิบ ประมาณ 60% ของราคา
รายได้ ราคาถุงละ 7 และ 10 บาท
แรงงาน 1 คนขึ้นไป
ตลาด ย่านอาหาร ออฟฟิศ ชุมชน
จุดน่าสนใจ ปัจจุบันมีคนนิยมทานทั่วไป

เชาวลี ชุมขำ :รายงาน เดลินิวส์

เปิดอาชีพ ชีวิต "หมอหมี(แพนด้า)"

"กรรณิการ์ นิ่มตระกูล""เพราะรักช้าง"จึงมามีวันนี้ !

“กับชีวิตสัตว์เราไม่เคยเลือกที่จะรัก รักเหมือนกันหมด แต่กับช้างพิเศษมากกว่า เพราะเขาปัญหาเยอะ แต่คนช่วยมีน้อย ทุกวันนี้ยังยืนยันความฝันเดิมว่าที่สุดของชีวิตเราแล้วคือการได้เป็นหมอช้าง รักษาช้าง” ...เป็นความรู้สึกของสัตวแพทย์หญิง (ส.พญ.) “กรรณิการ์ นิ่มตระกูล” หรือ “หมอก้อย” ซึ่งคนไทยส่วนใหญ่คงไม่รู้มาก่อน เพราะวันนี้เริ่มจะคุ้นชื่อเธอโดยมิใช่เพราะ “ช้าง” แต่เพราะ “หมีแพนด้า”

“หมอก้อย-กรรณิการ์ นิ่มตระกูล” วันนี้คือหนึ่งในสัตวแพทย์ประจำทีมดูแลแพนด้า สวนสัตว์เชียงใหม่ เธอเล่าเรื่องชีวิตให้ฟังว่า เป็นคนเชียงใหม่เต็มร้อย เกิดที่นี่ โตที่นี่ เรียนที่นี่ และคาดว่าจะตายที่นี่เช่นกัน เธอเพิ่งผ่านวันครบรอบวันเกิดไปไม่นาน เพราะเกิดเมื่อ 18 มิ.ย. 2520 ตอนนี้ก็อายุ 32 ปี เริ่มเรียนหนังสือที่โรงเรียนอนุบาลเชียงใหม่ จบ ป.6 ก็เรียนต่อที่โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จากนั้นสอบเข้าเรียนที่คณะสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เธอเป็นนักศึกษารุ่นแรกและเป็นคนแรกของคณะ มีรหัส 01 เหตุเพราะชื่อนำหน้าคือ ก.ไก่ กับเป็นนักศึกษารุ่นแรกของคณะ เพราะเป็นปีแรกที่เพิ่งเปิดตอนที่เธอสอบเข้า

เธอเล่าว่าตั้งแต่จำความได้ก็รักสัตว์แล้ว คุณ พ่อ-คุณแม่ เกรียงศักดิ์-สุนันท์ นิ่มตระกูล เล่าให้ฟัง บ่อย ๆ ว่าตอนเด็กจะวิ่งเข้าหาหมา-แมวตลอด จนต้องคอยกระชากไว้ ซึ่งที่บ้านไม่มีใครเป็นหมอเลยสักคน คุณพ่อเป็นช่างซ่อมตู้เย็น คุณแม่เป็นแม่ค้าขายของ พี่สาว-พี่ชายทั้ง 2 คนก็ทำงานอื่นที่ไม่เกี่ยวกับการดูแลสัตว์

“พ่อชอบบอกว่าเป็นบ้าแบบนี้มาตั้งแต่เด็กแล้ว (หัวเราะ) และทำไมถึงเลือกเป็นหมอสัตว์ ตรงนี้เกิดจากความรู้สึกตอนที่เห็นหมาเราถูกรถชนตาย ตอนนั้นคิดว่าคงดีกว่านี้ถ้าสามารถช่วยเขาได้ จึงคิดว่าจะดีกว่าถ้าเราจะเป็นสัตวแพทย์ พอได้มาเรียนก็รู้สึกชอบงานด้านสัตว์ป่า โดยเฉพาะช้างจะชอบเป็นพิเศษ”

ตอนเรียนเธอจะให้ความสนใจเรื่องช้างมาก เพราะมีปัญหาเยอะ แต่คนทำงานมีไม่พอเพียงกับปัญหา เนื่องจากช้างเป็นสัตว์ใหญ่การดูแลรักษาต้องใช้คนมากกว่าสัตว์อื่น ๆ ยิ่งได้ฝึกงานก็ยิ่งรู้สึกรักช้างมากขึ้น ทุกวันนี้ก็ยังไม่เปลี่ยนใจ แต่ชีวิตคนเรามีถมไปที่ความฝันกับความจริงเป็นคนละเรื่อง กับหมอก้อยนั้นหลังเรียนจบเธอก็ไม่ได้ทำงานที่อยากทำ สมัครที่ไหนก็ไม่มีการตอบรับ สาเหตุหนึ่งคือยุคก่อนนั้นการยอมรับผู้หญิงเข้าทำงานด้านช้างยังไม่เปิดมากเท่าเดี๋ยวนี้ เพราะเป็นงานหนัก ต้องใช้แรงเยอะ เธอจึงต้องเบนเข็มเป็นสัตวแพทย์ในโรงพยาบาลสัตว์แห่งหนึ่ง ก่อนที่ต่อมาจะกลายมาเป็น “หมอหมีแพนด้า” และเป็นที่รู้จักของคนไทยในตอนนี้

“ทำอยู่โรงพยาบาลสัตว์ได้ปีครึ่ง ก็ตัดสินใจออกมาตามฝัน ไปสมัครเป็นอาจารย์บ้างก็ไม่ได้ พอดีมีพี่คนหนึ่งที่เขาอยู่ในทีมดูแลแพนด้า เขาบอกว่าที่สวนสัตว์เชียงใหม่มีนโยบาย รับหมอผู้หญิงนะ ก็เลยไปลองสมัครดู ทางเขาก็ไม่แน่ใจว่าเราจะทำไหวไหม เพราะกลัวเราจะหักกลาง (หัวเราะ) ตอนนั้นเราหนักแค่ 45 กิโลกรัมเอง เราก็เลยวัดใจไปเลยว่าขอทำเป็นอาสาสมัครก็แล้วกัน ถ้าเราทำไหวก็สุดแท้แต่เขาว่าจะรับหรือไม่รับ เขาก็บอกลองดู กลางวันเราก็ทำงานที่สวนสัตว์ กลางคืนเราก็ไปหารายได้เสริมที่ผับ เป็นพนักงานเสิร์ฟ”

หมอก้อยเล่าอีกว่า ทำงานเป็นอาสาสมัครแบบไม่รับเงินเดือนอยู่ 2 เดือน ก็ได้บรรจุเป็นลูกจ้าง จากนั้นก็ทำมาเรื่อย ๆ จังหวะพอดีพี่คนเดิมที่ดูแลอยู่ลาออกไปสอนหนังสือ เธอจึงถูกดึงมาทำตรงนี้ ปัจจุบันก็ 4 ปีแล้ว

ชีวิตในฐานะหมอแพนด้าของเธอไม่ง่าย ทุกเรื่องของแพนด้ามีคนสนใจเป็นพิเศษ ทำให้ชีวิตส่วนตัวหายไปบ้าง อย่างไรก็ดี เธอบอกว่าปัจจุบันมีคนรู้ใจแล้ว เขาทำงานด้านธุรกิจอาหาร ชื่อ บอย-สรศักดิ์ จันทรังษี

กับการเป็นที่รู้จักมากขึ้นชั่วข้ามคืน หลัง “แพนด้าน้อย” ลูกสาวของ หลินฮุ่ย-ช่วงช่วง เป็นจุดสนใจ เธอยอมรับว่า ยังไม่ชิน เพราะเป็นแค่หมอตัวเล็ก ๆ เมื่อต้องมาอยู่ในจุดนี้ก็ทำให้ชีวิตไม่เป็นปกติ ยิ่งแพนด้าเป็นเรื่องที่คนสนใจ สื่อก็ต้องพยายามหาข่าวเพื่อให้คนรับรู้ ช่วงแรกเธอยอมรับว่าไม่เข้าใจและมีปัญหามาก แต่ก็พยายามปรับตัวและทำความเข้าใจ คิดว่าต่างฝ่ายต่างมีหน้าที่ และพยายามมองด้านที่เป็นประโยชน์ พอความสนใจเยอะ ความช่วยเหลือก็มากขึ้น สัตว์อื่น ๆ ก็ได้ประโยชน์ จึงคิดตลอดว่าต้องอดทน ๆ เพื่อช่วยสัตว์อื่นด้วย

“ตอนนี้อยู่ตัวแล้ว ช่วงแรก ๆ สื่อจะบอกว่า ยัยคนนี้เป็นบ้าอะไรนะ ฟาดฟันกับสื่อเหลือเกิน ตอนนั้นไม่เข้าใจ เรามักจะเทความเป็นห่วงไปหาสัตว์ที่เราดูแลมากกว่า เป็นห่วงลูกหมีตัวเล็ก ๆ ว่าเขาจะอดทนพอไหม ยิ่งตอนเขาเกิดมาเขาน่ารัก ทุกคนก็จะเข้าหา จนตอนหลังพี่ที่เขาหวังดีมาสอนเราว่าต้องเข้าใจภาวะของสังคม เขาสนใจก็ต้องเอื้อให้เขารู้ และไม่ใช่เรื่องร้ายแรงอะไร ทุกวันนี้ก่อนเริ่มทำงานเราก็จะต้องนำตารางการตรวจเช็กมาดู เพื่อที่จะพิมพ์เป็นข้อมูลให้ ตรงนี้จริง ๆ ไม่ใช่หน้าที่ แต่เราถือโอกาสให้ความรู้เกี่ยวกับสัตว์ป่าไปในตัว”

ในส่วนของพ่อแม่ เธอบอกว่าไม่ค่อยถามอะไร และปกติก็แทบจะไม่ได้เจอกัน ยุ่งขนาดที่เธอบอกว่าตอนไปดูงานที่จีนซื้อของฝากก็ยังไม่มีเวลาเอาไปให้ จนต้องโทรศัพท์ให้มาเอาถึงสวนสัตว์ “ส่วนใหญ่คุณพ่อคุณแม่จะดูจากข่าว โทรฯคุยบ้างสั้น ๆ คุณแม่เดินไม่ได้มา 20 ปีแล้ว กลับไปทีเขาจะจับแข้งจับขาบอกว่าเห็นในทีวีนะ ตอนนี้ (ช่วงที่สัมภาษณ์) คุณพ่อเพิ่งเข้าโรงพยาบาล เวลาไปเยี่ยมก็จะโม้ว่านี่ลูกสาวทำงานแพนด้านะ”

ถามถึงภารกิจประจำวัน เธอเล่าว่า 08.30 น. เข้าทำงาน จากนั้นกิจวัตรก็คือการเข้าไปซักถามพี่เลี้ยงถึงสภาวะสุขภาพต่าง ๆ โดยแพนด้าจะมีคนเฝ้าตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อบันทึกพฤติกรรม ถ้าถามแล้วไม่มีอะไรน่าห่วง ตอน 09.00 น.ก็นั่งทำงานวิจัย งานเอกสารที่เกี่ยวข้อง และตั้งแต่ 13.00 น. จนถึงเย็น ก็จะเข้าไปดูพี่เลี้ยงที่ทำการฝึก 2 แพนด้า แต่ช่วงยุ่ง ๆ จะเริ่มเมื่อใกล้เข้าฤดูผสมพันธุ์ของแพนด้า คือช่วง มี.ค.-พ.ค. ที่ต้องกินนอนในกรงแพนด้าเพื่อเฝ้ารอจังหวะไข่ตก เมื่อไข่ตกเมื่อไหร่ทางทีมงานก็ต้องพร้อมที่จะผสมเทียมได้ทันที ช่วงนี้จะหนักสุด

สำหรับกระแสที่คนไทยตอนนี้เห่อแพนด้า เธอยอมรับว่าเธอเองก็โหนกระแสนี้ เพราะเป็นโครงการสำคัญ การที่แพนด้าเป็นดาราประจำก็ทำให้คนสนใจมาก รายได้จากตรงนี้ก็เลี้ยงดูหล่อเลี้ยงสัตว์อื่นด้วย ซึ่งที่สวนสัตว์นี้สมัยก่อนคนเข้าไม่มาก ถึงจะมีสัตว์ของไทยดี ๆ แต่ก็ไม่ค่อยมีใครเข้าดู แต่พอแพนด้ามาสัตว์อื่น ๆ ก็เลยได้อานิสงส์ด้วย อย่างห้องแล็บราคา 2-3 ล้านที่เพิ่งสร้างก็ได้มาเพราะแพนด้า ซึ่งก็ได้ใช้ประโยชน์จากแล็บในการเป็นศูนย์ตรวจเชื้อ ตรวจฮอร์โมนให้สัตว์อื่น กับช้างก็ใช้ที่นี่ ตรงนี้ก็ถือว่าแพนด้าให้คุณมาก

“แต่วันหนึ่งเขาก็คงต้องกลับบ้านเขา ถามว่าผูก พันไหม แน่นอนเพราะเราเลี้ยงเขามาเหมือนลูก มีหมวยน้อยเป็นหลาน ถามว่าร้องไห้ไหม มันข้ามช็อตไปแล้ว ส่วนวันที่เขาจะต้องกลับจริง ๆ เราจะร้องไห้หรือไม่ เราเองก็ไม่รู้เหมือนกันนะ” หมอก้อย-กรรณิการ์ นิ่มตระกูล กล่าว

"อ้อแอ้"ชื่อแรกแพนด้าน้อย

ทิ้งท้าย หมอหมีแพนด้าคนนี้กล่าวประโยคที่น่าดีใจแทนช้างไทยว่า... “ถามว่ายังคิดจะกลับไปตามฝันหรือไม่ วันนี้ก็ยังไม่ได้ขาดจากความเป็นหมอช้างนะ ทุกวันนี้ก็จะคุยกับพี่ ๆ เพื่อน ๆ ที่ลำปาง ที่ดูช้างกันอยู่ ทุกวันนี้หากมีช่วงว่างก็จะแอบหนีไปลำปางเพื่อไปช่วยงานช้างอยู่เสมอ เพราะเรายังรู้สึกว่ามีความสุขที่ได้ดูแลช้าง แม้จะรักแพนด้ามากแค่ไหนก็ตาม แต่ถึงยังไงช้างก็ยังเป็นที่สุดของเรา”.

หมอก้อยบอกว่า มีหลายเรื่องที่คนไทยไม่ค่อยทราบ อาทิ 1.ทำไมถึงสนใจการคลอดและเลี้ยงลูกของหลินฮุ่ยมาก คำตอบคือ พฤติกรรมหลินฮุ่ยค่อนข้างเป็นที่แปลกใจของผู้ศึกษาแพนด้า เพราะไม่ทิ้งลูก ทั้งที่วัยเด็กของหลินฮุ่ยถูกแม่ทิ้ง แม้แต่ผู้เชี่ยวชาญจีนยังทำนายว่าจะต้องทิ้งลูกจนสั่งให้เตรียมตู้อบและนมไว้ แต่สุดท้ายไม่ได้ใช้, 2. ความอดทนในฐานะแม่ของหลินฮุ่ยมีสูง ปกติแม่แพนด้าจะทนหิวไม่ไหว ต้องวางลูกเพื่อกินอาหาร แต่หลินฮุ่ยไม่ยอมวางลูก ไม่กิน ไม่ถ่าย ไม่นอน ตลอด 5 วัน จนทีมงานอดทึ่งไม่ได้กับความเป็นยอดคุณแม่ กับภาพที่นั่งสัปหงกอุ้มลูก, 3.ทำไมแพนด้าผสมพันธุ์ยาก เพราะตัวผู้อวัยวะเพศสั้น ตัวเมียมีวงรอบปีละครั้ง เป็นสัตว์รักสันโดษชอบอยู่เดี่ยว สนใจการกินมากกว่าการผสมพันธุ์ จึงใช้เวลามาก 5-6 ปีกว่าจะผสมพันธุ์ติด

และขณะที่คนไทยกำลังลุ้นโหวตชื่อแพนด้าน้อย หมอก้อยเผยว่า มีชื่อจีนที่ทางทีมงานตั้งกันและแอบส่งด้วย แต่ตกรอบ คือ “ไท้ซิง” แปลว่า “หัวใจของคนไทย” อีกความหมายคือดวงดาวที่สวยงามของคนไทย เหมือน “สตาร์ ออฟ ไทยแลนด์” ส่วนชื่อที่ทีมเรียกกันมาแต่แรก และเรียกกันอยู่ก็มี... “ชื่อ อ้อแอ้ เพราะเขาชอบขี้บ่น คือจะชอบทำปากงุบงิบเหมือนบ่นตลอดเวลา เราก็หมั่นไส้เลยพูดว่าอ้อแอ้เหลือเกิน” .

ศิริโรจน์ ศิริแพทย์/อนุศร ศรีวิชัย : รายงาน เดลินิวส์

‘ที่ติดตู้เย็น น่ารักๆ’ พลิกแพลงได้ขายคล่อง

ศิลปะตัดแปะสร้างลวดลายต่าง ๆ แบบญี่ปุ่นที่เรียกว่างาน “โอชิเอะ” เป็นหนึ่งในงานฝีมือที่คนไทยก็นิยมทำ โดยพัฒนาดัดแปลงจนเป็นศิลปะผ้าไทยประดิษฐ์ที่มีเอกลักษณ์ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นงานชิ้นใหญ่ที่ขายในราคาสูง แต่ก็มีคนคิดย่อขนาดทำเป็น “ที่ติดตู้เย็น” จนเป็น “ช่องทางทำกิน” ได้อย่างน่าสนใจ...

ยุพิน ผูกพานิช เจ้าของงานฝีมือดังกล่าวนี้เล่าว่า เดิมทีทำงานเป็นพนักงานบริษัท ต่อมาคิดได้ว่าอาชีพพนักงานประจำเริ่มมีความเสี่ยงเพราะเศรษฐกิจไม่ดี น่าจะวางแผนล่วงหน้าให้กับชีวิต จึงตัดสินใจศึกษางานประดิษฐ์ต่าง ๆ ซึ่งก็สนใจงานศิลปะโอชิเอะที่คนไทยนำมาเรียกใหม่ว่าเป็นงานศิลปะผ้าไทยประดิษฐ์ และเริ่มทำเป็นอาชีพมาตั้งแต่ปี 2543 รายได้ก็เรียกว่าพออยู่ได้ โดยทำเป็นชิ้นงานขนาดใหญ่ ในลักษณะของภาพสำหรับใส่กรอบรูปหรือแขวนติดผนัง ซึ่งงานส่วนใหญ่ที่ทำเป็นภาพติดผนัง หรือใส่กรอบรูป จะเน้นไปที่งานศิลปะไทย เช่น ภาพสัตว์หิมพานต์, ลวดลายไทย กับภาพวิวทิวทัศน์เป็นหลัก แต่ต่อมาคิดได้ว่าหากนำรูปแบบของงานดังกล่าวมาปรับขนาดย่อส่วนให้เล็กลง ก็สามารถขายในราคาที่ต่ำกว่า อาจจะทำให้ขายงานได้ง่ายยิ่งขึ้น

สุดท้ายก็เริ่มทำ “ที่ติดตู้เย็น” หรือที่เรียกว่า “แมกเนต”

ยุพินเล่าว่า ในระยะแรกที่ทำ รูปแบบส่วนใหญ่จะเน้นที่ “ตุ๊กตาสัตว์” อาทิ ช้าง, ยีราฟ, แพนด้า เป็นหลัก ต่อมาก็พัฒนาเป็นรูปแบบ “ตัวการ์ตูน” ที่ดูน่ารัก เช่น ตุ๊กตากิโมโน, ตุ๊กตาเด็กผู้หญิงจีน (อาหมวย), เด็กหัวเห็ด เป็นต้น ซึ่งตอนนี้มีสินค้าอยู่ราว 20 แบบ และจากรูปแบบที่ผลิตเป็นที่ติดตู้เย็น ต่อมาก็พัฒนาเป็นพวงกุญแจ, ที่ห้อยโทรศัพท์มือถือ เพิ่มขึ้นมา โดยราคาขายปัจจุบันอยู่ที่ชิ้นละ 39 บาท

“เรามองว่าถ้าจะนั่งรอขายแต่ชิ้นใหญ่ ๆ คงไม่ได้ เศรษฐกิจไม่ดี น่าจะขายได้ยากขึ้น เนื่องจากสินค้าค่อนข้างมีราคาสูง ก็เลยคิดย่อส่วนชิ้นงานลง มา แต่ก็ต้องหารูปแบบใหม่ด้วย ก็มาลงเอยที่ที่ติดตู้เย็น”

ทุนเบื้องต้นอาชีพนี้ ทำเล็ก ๆ ใช้ประมาณ 1,000 บาทก็พอ ส่วนใหญ่เป็นค่าอุปกรณ์ ขณะที่ทุนวัตถุดิบอยู่ที่ประมาณ 30% ของราคาขายเท่านั้น ซึ่งถือว่าเป็นงานที่ใช้เงินลงทุนต่ำ และใช้ทุนวัตถุดิบน้อย เมื่อเทียบกับงานประดิษฐ์ชิ้นอื่น ๆ โดยงานนี้เป็นงานที่เน้นฝีมือและจินตนาการในการทำเป็นสำคัญ

สำหรับวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ก็มี ปากกาหัวแร้ง, ปืนยิงกาว-กาวร้อน, กรรไกรตัดกระดาษ, คัตเตอร์, คีมปากคีบ, แม่เหล็ก, วัสดุตกแต่ง, กระดาษสา, เศษผ้าไหม, กระดาษแข็ง, สีอะคริลิกหรือสีโปสเตอร์, ฟองน้ำ

ขั้นตอนการทำ เริ่มจากการขึ้นแบบ (แพทเทิร์น) ของตุ๊กตาที่จะทำ โดยใช้การร่างแบบส่วนประกอบต่าง ๆ ของตัวตุ๊กตา เช่น หัว, แขน, ขา ลงบนกระดาษแข็ง ใช้กรรไกรหรือคัตเตอร์ตัดกระดาษที่ร่างแบบส่วนต่าง ๆ ออกจากกัน เสร็จแล้วนำแบบที่ได้มาทาบลงบนเศษผ้าไหมและฟองน้ำ จากนั้นตัดตามรอย

เมื่อได้ส่วนประกอบต่าง ๆ แล้ว ให้นำฟองน้ำมาวางบนชิ้นส่วนของตุ๊กตา (กระดาษแข็ง) นำเศษผ้าไหมที่ตัดไว้มาหุ้มทับฟองน้ำและกระดาษ เชื่อมติดกันด้วยกาวร้อน จากนั้นนำกระดาษสามาหุ้มปิดบริเวณด้านหลังของตุ๊กตา แล้วทำการเชื่อมติดแม่เหล็กเข้าที่ด้านหลังของตุ๊กตาด้วยกาวร้อน เมื่อติดส่วนประกอบต่าง ๆ เสร็จแล้วก็ถึงขั้นตอนการตกแต่งตัวตุ๊กตา ซึ่งการตกแต่งหน้าตาของตุ๊กตานั้นเจ้าของผลงานแนะนำเคล็ดลับว่า ควรเลือกสีที่ใช้ให้กลมกลืนกับลวดลายของผ้าที่อยู่บนตุ๊กตา เมื่อตกแต่งด้วยสีแล้วก็ทิ้งไว้ให้สีแห้ง เป็นอันเสร็จ

“งานนี้สามารถทำขายไปได้เรื่อย ๆ ไม่มีตันแน่นอน เพราะเปลี่ยนรูปแบบได้เรื่อย ๆ แต่จุดสำคัญต้องเข้าใจกลุ่มลูกค้า ต้องรู้ว่าจะขายสินค้าให้ลูกค้ากลุ่มไหน เพราะสินค้าแต่ละแบบก็มีกลุ่มที่นิยมไม่เหมือนกัน เช่น ตุ๊กตาช้าง จะขายดีกับลูกค้าต่างชาติ ขณะที่แบบที่เป็นตุ๊กตาจะขายดีกับกลุ่มวัยรุ่นและพนักงานออฟฟิศ ดังนั้นจะต้องเข้าใจว่าลูกค้าในตลาดของเราเป็นกลุ่มใดบ้าง” ยุพิน ผูกพานิช เจ้าของผลงานแนะนำเรื่องตลาด

สนใจงานของยุพิน ติดต่อได้ที่ 26/22 หมู่ 10 ต.ลาดสวาย อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี หรือที่ตลาดนัดสวนจตุจักร โครงการ 7 ซอย 3 โทร. 0-2152-3852 อีเมล yupin.fabricart@hotmail.com ซึ่งถ้าใครสนใจอยากจะทราบข้อมูลการทำที่ลึกกว่าที่ว่ามา ก็ลองสอบถามโดยตรงจากเจ้าของผลงานนี้ได้เลย.

ศิริโรจน์ ศิริแพทย์ : รายงาน

ที่มา เดลินิวส์

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม