บทความที่ได้รับความนิยม

‘เพาะเห็ดฟางทำเงิน’

ถึงไม่ใหม่แต่ก็ยังขายดี
อาชีพ “เพาะเห็ดฟางขาย” แม้จะมีมานาน แต่จนวันนี้ก็ยังน่าสนใจอยู่ ซึ่งวันนี้ทีม “ช่องทางทำกิน” ก็มีข้อมูลจาก ศูนย์การเรียนรู้การเพาะเห็ดฟาง ต.บ้านซ่อง อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา มาให้ลองพิจารณา หลังจากทีมงานได้เดินทางไปดูงานกิจกรรมฟาร์มสเตย์ โครงการหมู่บ้านเกษตรกรรมหนองหว้า จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งทาง เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ให้การสนับสนุนอยู่ เมื่อปลายเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา...

โครงการหมู่บ้านเกษตรกรรมหนองหว้านั้นมีพื้นที่กว่า 1,200 ไร่ โดยกิจกรรมส่วนหนึ่งของโครง การคือกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่หลากหลาย ซึ่งก็เป็น “ช่องทางทำกิน” ของชาวบ้าน และสำหรับการ “เพาะเห็ดฟาง” ก็มีศูนย์การเรียนรู้การเพาะเห็ดฟางเป็นทั้งแหล่งให้ความรู้ และเป็นแหล่งรวบรวมเห็ดจากสมาชิกของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเห็ด และผักปลอดสารพิษ ซึ่งแต่ละวันก็จะมีเห็ดฟาง 200-300 กก. เป็นอย่างต่ำ

บัญชา มัจฉานุ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเห็ด และผักปลอดสารพิษ ต.บ้านซ่อง เล่าว่า รวมกลุ่มผักปลอดสารพิษบ้านหนองหว้ามาตั้งแต่ปี 2548 แรกเริ่มเดิมทีมีสมาชิก 12 คน โดยได้รับงบประมาณจากสำนักงานเกษตร อ.พนมสารคาม, เทศบาลนคร ต.บ้านซ่อง และ มีเจ้าหน้าที่เกษตรอำเภอมาถ่ายทอดความรู้ให้

สำหรับการรวมตัวเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเห็ดและผักปลอดสารพิษ เริ่มกันในปีนี้ โดยมีจำนวนสมาชิกเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 30 ครัวเรือน ในส่วนของเห็ดจะผลิตได้วันละกว่า 200-300 กก.ขึ้นไป ซึ่งหลังรวมตัวกันในเรื่องการเพาะเห็ดฟาง ฟาร์มเห็ดก็ได้สร้างรายได้ให้ชาวบ้านและสร้างความเป็นปึกแผ่นให้กับชุมชนได้มากขึ้น

ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเห็ด บอกว่า ปัจจุบันมีโรงเรือนเพาะเห็ดของกลุ่มฯ กว่า 100 โรง ซึ่งหากไม่มีปัญหาอะไรโรงเรือนแต่ละโรงจะให้ผลผลิตเห็ดเฉลี่ยเดือนละ 250-300 กก. โดยสร้างรายได้ กก.ละ 55 บาทขณะที่ต้นทุนของการผลิตเห็ดฟางนั้นตก กก.ละ 25-30 บาท ซึ่งจะมีพ่อค้าคนกลางมารับซื้อถึงศูนย์

โรงเรือนแต่ละแห่งจะสร้างด้วยไม้ หลังคามุงด้วยใบจาก และต้องมีผ้าใบคลุมด้วย ในกรณีที่จะต้องรักษาอุณหภูมิ โรงเรือนนั้นจะมีขนาด 5 x 8 เมตร ขนาด 4 ชั้น 2 แถว โดยมีต้นทุนโรงละ 15,000-20,000 บาท

ส่วนกรรมวิธีเพาะเห็ด จะเริ่มตามลำดับของวัน คือ วันที่ 1-3 แช่ปาล์ม จำนวน 2.5-3 ตัน ในน้ำ (ปริมาณท่วมปาล์มพอดี) ใช้ทะลายปาล์มที่หีบน้ำมันออกหมดแล้ว หรืออาจจะใช้กากมันสำปะหลัง หรือใช้เปลือกถั่วก็ได้ อย่างไรก็ตาม สำหรับปาล์มน้ำมันในปริมาณดังกล่าวจะใช้กับโรงเรือนได้ 4 โรงเรือน ซึ่งต้องผสมอีเอ็มหรือน้ำจุลินทรีย์ชีวภาพจำนวน 3 ลิตร, กากน้ำตาล 3 ลิตร และปุ๋ยยูเรีย 3 กก. ละลายให้เข้ากัน แช่ทิ้งไว้ 3-4 คืน แล้วนำขึ้นมา เพื่อเตรียมขึ้นปาล์มบนโรงเรือน

วันที่ 4 ขึ้นปาล์ม โดยมีอาหารเสริมด้วย (เป็นส่วนผสมที่คลุกระหว่าง ขี้วัว 45 กก., รำข้าว 25 กก., อีเอ็มหรือน้ำจุลินทรีย์ชีวภาพ 100 ซีซี, กากน้ำตาล 100 ซีซี และน้ำเปล่า 100 ลิตร)

วันที่ 5-7 เลี้ยงเชื้อรา คือจะมีราขาวขึ้นบาง ๆ บนปาล์มน้ำมัน

วันที่ 8 อบไอน้ำ (จะมีหม้อต้มน้ำด้านหลังโรงเรือน และปล่อยไอน้ำตามท่อเข้าไปในโรงเรือน และขณะอบไอน้ำต้องคลุมผ้าใบโรงเรือนให้มิดชิดด้วย) รักษาอุณหภูมิ 70-75 องศาฯ นาน 3 ชั่วโมง

วันที่ 9 โรยเชื้อ (ชั้นละ 7 ก้อน อัตราส่วน 1.5 ตร.ม. / เชื้อเห็ด 1 ก้อน) ซื้อจาก จ.นครนายก ราคาก้อนละ 10 บาท แต่ถ้าเขี่ยเชื้อเห็ดเองได้จะเหลือต้นทุนก้อนละ 5 บาท)

วันที่ 10-13 เลี้ยงใย (รักษาอุณหภูมิ 30-34 องศาฯ)

วันที่ 14 ตัดใย (วิธีการคือ ใช้น้ำเปล่ารดให้ยุบลง และเปิดช่องระบายอากาศ)

ทิ้งไว้ถึงวันที่ 17-30 เก็บผลผลิต (รักษาอุณหภูมิ 28-32 องศาฯ) ซึ่งในระยะ 2 สัปดาห์ จะเก็บผลผลิตได้ 3- 4 ครั้ง โดยเก็บเสร็จแล้ว รดน้ำ และปล่อยไว้อีก 3-4 วัน จะได้ปริมาณเห็ดในจำนวนที่กล่าวไว้ข้างต้น

เทคนิคในการเก็บเห็ดนั้น บัญชาแนะนำว่า ควรจะ เก็บเห็ดฟางเมื่อเห็ดออกเป็นดอกตูม ๆ ซึ่งเห็ดลักษณะนี้ จะได้ราคาดี ส่วนถ้าเป็นเห็ดบาน ๆ ราคาจะไม่ดี ฉะนั้นอย่าปล่อยให้ดอกเห็ดบานจนเกินไป

“เพาะเห็ดฟางขาย” ยังเป็นอาชีพด้านเกษตรที่น่าสนใจ แต่ด้วยเนื้อที่จำกัดจึงแจกแจงได้ไม่ละเอียด อย่างไรก็ตาม หากสนใจเรื่องราวการเพาะเห็ดฟาง ติดต่อ บัญชา มัจฉานุ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเห็ดฯ หมู่ 3 ต.บ้านซ่อง อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา เพื่อขอไปเรียนรู้ได้ ที่โทร. 08-0622-8681.

สุภารัตน์ ยอดศิริวิชัยกุล เดลินิวส์


http://เตรียมทหาร.blogspot.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น


จำนวนการดูหน้าเว็บรวม