บทความที่ได้รับความนิยม

'ไอศกรีมโฮมเมด' แข่งขันสูง รายได้สูง

แข่งขันสูง...แต่ยังมีช่องว่าง

ประเทศไทยเป็นเมืองร้อน ส่งผลให้การทำกิจการ-การทำอาชีพขายไอศกรีม ได้รับการตอบรับดี และมีความก้าวหน้าอย่างมาก รวมถึงมีความแปลกใหม่ให้ได้ลิ้มลองอยู่เสมอ ซึ่งทีม “ช่องทางทำกิน” ก็เคยนำเสนอไปบ้างแล้ว และวันนี้ก็มีข้อมูล “ไอศกรีมโฮมเมด” มานำเสนออีกครั้ง...

ธุรกิจไอศกรีมในไทย มีทั้งแบบเดิม ๆ รวมไปจนถึงการขยายช่องทางมาจากโรงงาน ไอศกรีมของบริษัทต่างชาติยักษ์ใหญ่ด้วยการขายแฟรน ไชส์ไอศกรีม รวมทั้งยังมี “ไอศ กรีมโฮมเมด” ในรูปแบบ และยี่ห้อต่าง ๆ และก็มีไอศกรีมที่สร้างสรรค์ขึ้นเองโดยคนไทย ด้วยรสชาติที่ถูกปากคนไทย อย่างเรา ๆ ประกอบกับยุคนี้ยังมีเครื่องผลิตไอศกรีมจำหน่ายอย่างแพร่หลาย ทำให้การทำไอศกรีมนั้นง่ายขึ้นกว่าในอดีต

แม้มองโดยทั่วไปจะดูเหมือนว่า กิจการไอศกรีมน่าจะถึงจุดอิ่มตัวแล้ว แต่ธุรกิจนี้ยังมีช่องว่าง ยังพอมีทางให้เดินได้อีก และวันนี้คอลัมน์ “ช่องทางทำกิน” ขอนำเสนอธุรกิจไอศกรีมโฮมเมดเล็ก ๆ แต่น่าสนใจรายหนึ่ง ซึ่งน่าจะเป็นแนวทางสำหรับผู้สนใจจะทำธุรกิจไอศกรีมโฮมเมดได้

ปัทมา เอี่ยมวิจารณ์ เป็นเจ้าของธุรกิจไอศกรีมโฮมเมด แบรนด์ “เจลาโต้ คาริโน่” เจ้าตัวบอกว่า เพิ่งจะมาจับธุรกิจนี้ได้ไม่นาน โดยมีที่มาที่ไปคือ ส่วนตัวมีความชอบ สนใจในเรื่องสุขภาพ และมองว่าเมืองไทยเป็นเมืองร้อน ไอศกรีมน่าจะขายได้ และไอศกรีมไขมันต่ำก็กำลังเป็นที่นิยม จึงไปเรียนทำและขอคำปรึกษาจากคนรู้จักกัน จากนั้นได้พยายามปรับปรุงสูตรจนเป็นที่น่าพอใจ

“ที่มาของชื่อแบรนด์คือ จีลาโต้ มีต้นกำเนิดมาจากประเทศจีน จี คือ จีน และจีลาโต้ คือคนอิตาลีนำมาปรับปรุง ซึ่งเขาให้เกียรติจีน ก็เลยเรียกว่า จีลาโต้ หรือเจลาโต้ เป็นชื่อสามัญทั่วไปที่ทุกคนมีสิทธิใช้ ส่วนคำว่าคาริโน่ เป็นภาษาอิตาลี แปลเป็นไทยหมายถึง ความน่ารัก อ่อนหวาน” ปัทมาอธิบาย

ไอศกรีมที่ผลิต มีมากกว่า 50 รสชาติ ถ้ารวมผลไม้ตามฤดูกาลก็จะมีมากถึง 60-70 รสชาติ ตัวอย่างรสชาติที่ได้รับความนิยมมาก จะเป็นจำพวก โยเกิร์ตบลูเบอร์รี่ โยเกิร์ตส้ม ทีรามิสุ และ รัมเรซิ่น หรือ ช็อกโกแลตชิพ หากจะเพิ่มรสชาติความอร่อย และเรียกลูกค้าให้ได้มากขึ้น จะต้องขายคู่กับ “วาฟเฟิลโคน” ซึ่งทางร้านนี้ได้ผลิตขึ้นสด ๆ สำหรับลูกค้าที่ชอบการทานไอศกรีมแบบโคน

ปัทมาเล่าต่อไปว่า การลงทุนในธุรกิจไอศกรีมโฮมเมดนี้ เบื้องต้นจะต้องใช้เงินลงทุน 100,000-150,000 บาท ซึ่งเป็นค่าอุปกรณ์ อาทิ เครื่องทำไอศกรีม ตู้แช่ไอศกรีม และตู้เย็น (สำหรับขาย) ยังไม่ได้รวมค่าการตลาด (ถ้ามี) ส่วนการลงทุนในเนื้อไอศกรีมนั้น ก็จะเป็นอีกส่วนหนึ่ง

ยกตัวอย่างการทำไอศกรีมตระกูลนม อาทิ ไอศกรีมรสวานิลลา ปัทมาบอกว่า จะต้องมีส่วนประกอบ คือ หัวเชื้อวานิลลา 280 กรัม, นมพร่องมันเนยไขมันต่ำ 1 กก. และน้ำอุ่น 2,500 ซีซี โดยจะต้องนำน้ำอุ่นผสมกับหัวเชื้อก่อน ตามด้วยนม แล้วนำลงไปปั่นรวมกัน ซึ่งรอบ ๆ เครื่องปั่นไอศกรีมนั้นจะต้องหล่อด้วยน้ำแข็งโรยเกลือ เพื่อกันไม่ให้น้ำแข็งละลาย ซึ่งใช้เวลาปั่นประมาณ 20 นาที

ส่วน ไอศกรีมตระกูลผลไม้ นั้น จะใช้หัวเชื้อที่เป็นน้ำผลไม้ 280 กรัม ผสมกับน้ำอุ่น 2,500 ซีซี ผสม กับน้ำเชื่อม 40 กรัม แล้วนำลงปั่น ใช้เวลาปั่น 17 นาที จากนั้นตักใส่ภาชนะที่เตรียมไว้ และนำเข้าตู้แช่ ซึ่งมีอุณหภูมิ -20 องศาเซลเซียส

ในปริมาณดังที่กล่าวมา จะตักขายไอศกรีมได้มากกว่า 50 ลูก ขึ้นไป ซึ่งราคาขายนั้น จะขายได้ ในราคา 15-20 บาท ต่อลูกขึ้นไป แล้วแต่ต้นทุน-ทำเล

“ยอมรับว่าการแข่งขันในธุรกิจนี้รุนแรงเหมือนกัน ความเป็นอิตาลีส่วนมากก็จะทำให้แพงไว้ก่อน ดูหรูไว้ก่อน แต่ที่ร้านเน้นที่รสชาติ คุณ ภาพ และจำหน่ายในราคาสมเหตุสมผล ส่วนการทำตลาด ในช่วงแรกจะใช้วิธีออกบูธไปยังพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อต้องการทราบการตอบรับของลูกค้าแต่ละพื้นที่”

ปัจจุบันปัทมาเปิดร้านขายอยู่ด้านข้างมหาวิทยาลัยรังสิต (ด้านเมืองเอก) สนใจธุรกิจไอศกรีมโฮมเมดของ ปัทมา เอี่ยมวิจารณ์ ติดต่อได้ที่ โทร. 0-2533-0756 0-2533-0756 และ 08-5443-9930 08-5443-9930 หรือ pattama_cns@hot mail.com หรือดูใน http://www.gelatocarino.com.

สุภารัตน์ ยอดศิริวิชัยกุล : รายงาน
ที่มา เดลินิวส์ http://www.dailynews.co.th/

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม