บทความที่ได้รับความนิยม

'รองเท้านินจา' สินค้าสุดฮิต

ตลาดสินค้าสำหรับเกษตรกรเป็นตลาดที่ไม่ควรมองข้าม เพราะความเป็นจริงถือว่าเป็นตลาดที่ใหญ่ โดยเฉพาะอุปกรณ์หรือตัวช่วยในการทำเกษตร ที่ยังมีช่องว่างให้แทรกได้อีกเยอะ อย่างเช่นงานผลิตรองเท้าสำหรับใส่ลงสวน ที่เรียกว่า “รองเท้า นินจา” ที่ทีม “ช่องทางทำกิน” จะนำเสนอในวันนี้...

“ประชุม เลียดทอง” เจ้าของสินค้า “รองเท้านินจา” แห่งกลุ่มแม่บ้านหมู่ 3 บ้านบัวงาม ต.บัวงาม อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี เล่าว่า รองเท้าทำสวนที่เกษตรกรหรือคนทั่วไปมักเรียกติดปากว่า “รองเท้านินจา” นี้ เป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมของคนในพื้นที่ซึ่งมีการทำขึ้นมาใช้ในครัวเรือนนานแล้ว เพียงแต่รูปแบบในยุคก่อนจะแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับคนที่ทำหรือใช้วัสดุอะไรทำ เป็นไปในลักษณะต่างคนต่างทำต่างคนต่างใช้

ต่อมาตนเห็นว่ามีความต้องการในตลาดสูง คิดว่าน่าจะนำมาต่อยอดและทำเป็นอาชีพได้ ก็เลยลองทำเพื่อลองตลาด ปรากฏว่าได้รับการตอบรับดี จึงยึดอาชีพผลิตรองเท้านี้มาเกือบ 20 ปีแล้ว โดยใช้ชื่อสินค้าว่ารองเท้านินจายี่ห้อ “ช.รุ่งระวี” รองเท้านี้กลายเป็นสินค้าขึ้นชื่อของพื้นที่นี้ มีการส่งไปขายได้ทั่วประเทศ

ลักษณะการใช้งานรองเท้า ประชุมบอกว่า ส่วนใหญ่เกษตรกรจะนิยมใส่ลงในพื้นที่สวนหรือนาข้าว หรือพื้นที่ที่มีลักษณะเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ มีลักษณะเป็นดินโคลน เพื่อป้องกันการเกิดบาดแผลจากหอยเชอรี่ หนามจากวัชพืช เพื่อ “ป้องกันโรคฉี่หนู” ส่วนสาเหตุที่รองเท้านินจาเป็นที่นิยม เหตุผลคือรองเท้านี้ใช้งานสะดวกกว่ารองเท้าบู๊ตยาง เพราะน้ำหนักเบากว่า สวมใส่สบายกว่า ที่สำคัญเมื่อใส่เดินในโคลนหรือน้ำจะไม่หนัก เพราะใช้วัสดุผ้าแทนยาง รองเท้าก็จะไม่เก็บน้ำไว้ ทำให้ขณะเดินรองเท้าจะไม่จมดินเหมือนรองเท้าบู๊ตยาง

“กลุ่มลูกค้าหลักก็คือเกษตรกร รองลงมาก็จะเป็นร้านจำหน่ายอุปกรณ์การเกษตรที่นำไปขายต่อ รวมถึงบริษัทจำหน่ายอุปกรณ์การเกษตรที่จะซื้อเพื่อนำไปแจกให้ลูกค้าอีกต่อหนึ่ง” เจ้าของผลิต ภัณฑ์กล่าว

ราคาจำหน่าย เริ่มตั้งแต่คู่ละ 50 บาท ไปจนถึงคู่ละ 70 บาท ปัจจุบันผลิตอยู่ 3 แบบคือ แบบสั้น หุ้มเหนือข้อเท้า แบบยาว หุ้มถึงใต้หัวเข่า และแบบลายพราง ทหาร สำหรับคนที่ชอบรองเท้าที่มีลูกเล่นเพิ่มขึ้น ซึ่งรองเท้านินจาแบบยาวจะขายดีกว่าแบบสั้น แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสะดวกและการใช้งานของลูกค้าเป็นสำคัญ

ทุนเบื้องต้นอาชีพนี้ ถ้าทำเป็นอุตสาห กรรมเล็ก ๆ ใช้เงินลงทุนครั้งแรกประมาณ 1 แสนบาท ส่วนใหญ่จะเป็นค่าเครื่องจักรและอุปกรณ์ในการตัดเย็บ อาทิ จักรเย็บผ้าอุตสาห กรรม, เครื่องตัดผ้า, เครื่องปั๊มสำหรับขึ้นรูปรองเท้า และจักรโพ้งอุตสาหกรรม ส่วนอุปกรณ์อื่น ๆ ก็เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในงานตัดเย็บทั่วไป

ทุนวัตถุดิบ อยู่ที่ประมาณ 70% จากราคาขาย โดยทางกลุ่มนี้จะเน้นผลิตเป็นจำนวนมากเพื่อขายส่ง

สำหรับวัสดุที่ใช้ในการทำรองเท้านินจา ประกอบด้วย ผ้าลายสองหรือผ้าพีวีซี เน้นเหนียว ไม่อุ้มน้ำ, โฟมยางอัดแข็ง หนา 3 มิลลิเมตร สำหรับใช้ทำพื้นรองเท้า, เชือกสำหรับใช้ผูกรองเท้า, ซิป, ด้ายเย็บผ้า เป็นต้น

ขั้นตอนการทำมีไม่กี่ขั้นตอน คล้ายการเย็บรองเท้าผ้าทั่วไป จะมีขั้นตอนพิเศษเพิ่มขึ้นก็ในส่วนที่ต้องทำพื้นรองเท้าให้หนา เริ่มจากนำผ้าที่เตรียมไว้มาตัดเป็นชิ้นส่วนตามแบบหรือแพทเทิร์นที่ได้วางไว้ จากนั้นนำมาเย็บให้เป็นชิ้นเข้าด้วยกัน แยกออกเป็น 2 ส่วนประกอบคือ ส่วนที่เป็นตัวรองเท้า กับส่วนที่เป็นพื้นรองเท้า

ในส่วนที่เป็นพื้นรองเท้า หลังจากยัดโฟมยางที่เป็นพื้นรองเท้าเข้าไปไว้ด้านในแล้ว ก็จะใช้วิธีเย็บด้ายขึ้นลงย้อนไปมาหลาย ๆ รอบเพื่อให้เกิดลายที่พื้นรองเท้า และมีข้อดีคือช่วยทำให้พื้นรองเท้ายึดติดแน่น ทำให้พื้นรองเท้าหนาขึ้น และทำให้พื้นรองเท้าไม่ลื่นง่าย ขณะเดินบนพื้นเปียกแฉะ เมื่อเย็บเสร็จแล้วก็มาทำในส่วนที่เป็นตัวรองเท้า เมื่อเสร็จก็นำ 2 ส่วนมาประกอบเข้าด้วยกัน บรรจุหีบห่อ เป็นอันเสร็จขั้นตอนการทำรองเท้านินจา

“ตอนนี้ถือว่ากำลังการผลิตแทบจะไม่ทันกับความต้องการ เพราะตลาดมีความต้องการสูง ส่วนตัวเชื่อว่าตลาดยังโตได้อีกมาก” เจ้าของผลิตภัณฑ์กล่าวทิ้งท้าย

สนใจผลิตภัณฑ์ของกลุ่มแม่บ้านหมู่ 3 บ้านบัวงาม ติดต่อได้ที่เลขที่ 16 ต.บัวงาม อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี โทร.0-3227-9122, 08-1858-5004, 08-9690-3813 ซึ่งนี่ก็เป็นอีกงานฝีมือที่ต่อยอดจากภูมิปัญญาได้อย่างน่าสนใจ และเป็นอีกบทพิสูจน์ว่าทำสินค้าขายเกษตรกรก็น่าสนใจ อย่ามองข้าม !!.

ศิริโรจน์ ศิริแพทย์ : รายงาน เดลินิวส์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น


จำนวนการดูหน้าเว็บรวม