บทความที่ได้รับความนิยม

ข้าวมันไก่พันธ์ใหม่ 'ข้าวมันไก่พะโล้'

ข้าวมันไก่ล่าสุด อาชีพค้าขายอาหารถ้าพลิกแพลงดัดแปลงพัฒนาเมนูใหม่ ๆ ให้เป็นทางเลือกใหม่ของลูกค้า อาจจะสร้างรายได้ให้กับผู้คิดค้นได้เป็นอย่างดี เหมือนผู้ที่คิดเมนู “ข้าวมันไก่พะโล้” และ “กวยจั๊บเป็ดพะโล้” ที่ทีม “ช่องทางทำกิน” ไปเสาะหาข้อมูลมานำเสนอให้ลองพิจารณากันในวันนี้...

สุวิทย์ พรรณราย หรือ หลวง แห่งร้านเป็ดดอนหวาย (ศิษย์วัดดอนหวาย) สาขาแยกสวนสมเด็จ เล่าว่า เป็นคนที่ชอบการทำอาหาร และทำงานเกี่ยวกับอาหารมาตั้งแต่สมัยยังเรียนไป-ทำงานไป โดยเริ่มจากเป็นพนักงานเสิร์ฟ ผู้ช่วยเชฟ อาศัยศึกษาจดจำ ไม่รู้ตรงไหนก็จะถาม จนพัฒนาฝีมือขึ้นเป็นเชฟ เคยทำงานหลายที่ และภายหลังก็ออกมาทำร้านอาหารเป็นของตัวเอง ซึ่งก็ได้รับการตอบรับดีจากลูกค้า อย่างไรก็ตาม ในยุคที่เจอปัญหาเรื่องพิษเศรษฐกิจราวปี 2540 ร้านอาหารที่ทำอยู่เริ่มไปไม่ไหว จนต้องปิดกิจการไป

“ในช่วงนั้นพอดีมีโอกาสได้ไปนมัสการเจ้าอาวาสวัดดอนหวาย และได้ยินว่าเป็ดที่นี่อร่อย จึงคิดจะเปิดร้านเป็ดวัดดอนหวายที่กรุงเทพฯ โดยใช้คำว่าศิษย์วัดดอนหวายต่อท้าย เพราะเห็นว่าที่กรุงเทพฯ ยังไม่มีใครเปิด”

ด้วยความที่มีฝีมือทางด้านการทำอาหารอยู่แล้วจึงไม่ยากในการทำ “เป็ดพะโล้” ซึ่ง เคล็ดลับที่สำคัญคือการ “ต้มให้มีความหอม-นุ่มอร่อย” หลังจากเปิดร้านก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ซึ่งนอกจากจะขายเป็ดพะโล้ ก๋วยเตี๋ยวเป็ด ยังคิดค้นเมนูใหม่ ๆ ออกมาให้ลูกค้ามีตัวเลือกมากขึ้น

เมนูล่าสุดของร้านนี้คือ “ข้าวมันไก่พะโล้” “กวยจั๊บเป็ด”

ข้าวมันไก่พะโล้ก็เปลี่ยนจากไก่ต้มมาเป็นไก่พะโล้ ส่วนกวยจั๊บเป็ดก็เปลี่ยนมาใช้เส้นกวยจั๊บแทนเส้นก๋วยเตี๋ยว เปลี่ยนจากหมูมาใช้เป็ด แต่ทั้ง 2 เมนูนั้นก็ยังสำคัญอยู่ที่การต้มไก่และเป็ดให้หอม-ให้เนื้อนุ่ม

วัตถุดิบที่ต้องใช้ในการต้มหรือตุ๋นนั้น แบ่งออกได้ดังนี้ พวกเครื่องยาจีนก็มี... โสมตังกุย 2 ขีด, ไม้หอม (อบเชย) 1/2 ขีด, โป๊ยกั๊ก 1 ขีด, เก๋ากี๊ 1/2 ขีด, ลูกจันทน์ 1/2 ขีด, เม็ดผักชี 1/2 ขีด พวกสมุนไพรไทยก็มี... ข่า 2 ขีด, ตะไคร้ 4-5 ต้น, กระเทียมกลีบเล็ก, ใบเตย, มะตูมอบแห้ง ส่วนเครื่องปรุงประกอบด้วย... ซีอิ๊วขาว, ซอสปรุงรส, น้ำมันหอย, ซีอิ๊วดำ, น้ำกระเทียมดอง, เกลือเม็ด, ผงพะโล้, เหล้าขาว

ขั้นตอนการทำ... เริ่มจากนำไก่หรือเป็ดไปล้างทำความสะอาด โดยต้องล้างให้สะอาดจริง ๆ เอามันที่ติดอยู่บริเวณก้นของไก่และเป็ดออกให้หมด เลือดที่อยู่ภายในตัวไก่และเป็ดก็ต้องล้างออกให้เกลี้ยง เพราะถ้าล้างออกไม่สะอาดเวลา ต้มออกมาแล้วจะทำให้มีกลิ่นสาบ และทำให้ไก่และเป็ดนั้นเสียเร็วด้วย

หลังจากล้างทำความสะอาดเรียบร้อยแล้ว ก็เตรียมน้ำสำหรับตุ๋น โดยตั้งน้ำ นำสมุนไพรจีนทั้งหมด และสมุนไพรไทยบางตัวคือกระเทียมกลีบทุบพอแตกและมะตูมอบแห้ง ใส่รวมลงไปในห่อผ้าขาวบาง มัดปากห่อให้เรียบร้อย ใส่ลงไปต้ม ส่วนข่าและตะไคร้ให้ทุบพอหยาบ และใบเตยจับมัดให้เป็นกอ ใส่ตามลงไป

จากนั้นปรุงรสด้วยเครื่องปรุงทั้งหมด ยกเว้นน้ำมันหอยและผงพะโล้ ใช้ไฟแรงต้มจนน้ำเดือดจัด แล้วก็ใส่น้ำมันหอยและผงพะโล้ลงไปคนให้ละลายเข้ากันกับน้ำ จากนั้นก็ลดไฟลงมาให้อยู่ในระดับปานกลาง ใส่ไก่หรือเป็ดลงไปตุ๋นโดยจับเวลาด้วย ถ้าเป็นไก่ก็ใช้เวลาประมาณ 45 นาที ส่วนเป็ดเนื้อเหนียวกว่าใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง เท่านี้ก็จะได้ไก่และเป็ดไว้สำหรับทำข้าวมันไก่พะโล้และกวยจั๊บเป็ด

ตามสัดส่วนที่ว่ามาข้างต้นสามารถตุ๋นไก่หรือเป็ดได้ประมาณ 5 ตัว ต้นทุนในส่วนของเป็ดตัวละประมาณ 270 บาท ขณะที่ไก่ตัวละประมาณ 190 บาท

สำหรับการทำ “น้ำซุปก๋วยเตี๋ยว-กวยจั๊บ” นั้น ก็ใช้เครื่องปรุงและเครื่องเทศยาจีนและสมุนไพรไทยเหมือนการทำน้ำตุ๋น เพียงแต่ถ้าทำน้ำซุปก๋วยเตี๋ยวไม่ต้องใส่เหล้าขาว

การหุง “ข้าวมัน” ใช้กระเทียม กลีบเล็กมาปั่นกับน้ำมันพืชให้ละเอียด จากนั้นก็นำไปเจียวพอให้กระเทียมหอม นำข้าวสารไปล้างซาวน้ำให้สะอาด นำกระเทียมที่เจียวไว้, เกลือผง, น้ำตาลทราย, ผงปรุงรส ลง คลุกเคล้ากับข้าวจนละลายเข้ากัน จากนั้นเติมน้ำใส่ใบเตย แล้วนำไปหุงให้สุก

“ข้าวมันไก่พะโล้” ขายจานละ 30 บาท ส่วน “กวยจั๊บเป็ด” ชามละ 35 บาท ต้นทุนประมาณไม่เกิน 70%

ใครสนใจ “ข้าวมันไก่พะโล้-กวยจั๊บเป็ดพะโล้” รวมถึง ก๋วยเตี๋ยวเป็ด-เป็ดพะโล้ ของร้านเป็ดดอนหวาย (ศิษย์วัดดอนหวาย) สาขาแยกสวนสมเด็จ ร้านนี้อยู่ใกล้แยกสวนสมเด็จ ถ้ามาจากดอนเมือง พอถึงแยกสวนสมเด็จก็เลี้ยวขวา แล้วไปกลับรถ ร้านอยู่ข้างทางซ้ายมือ สอบถามเส้นทาง โทร. 08-5963-2284.

ที่มา เดลินิวส์ http://www.dailynews.co.th/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น


จำนวนการดูหน้าเว็บรวม