บทความที่ได้รับความนิยม

เสื้อผ้าเด็กแฟชั่น เทรนด์เกาหลี ฟีเวอร์

ต้องยอมรับว่ากระแส “เกาหลีฟีเวอร์” ในไทยเรามาแรงระยะหนึ่งแล้ว และจนถึงวันนี้ก็ยังแรงอยู่ ซึ่งนอกจากละคร-เพลงเกาหลีแล้ว สินค้าที่เกี่ยวเนื่องก็เป็น “ช่องทางทำกิน” ที่ดีของผู้ประกอบหลากหลาย แม้แต่อาชีพผลิต-ขาย “เสื้อผ้าเด็ก” ก็ด้วย อย่างรายที่มีข้อมูลมาให้ลองพิจารณากันในวันนี้...

ลักขณา ศุภโชคพาณิชย์ วัย 62 ปี เจ้าของไอเดีย เล่าว่า ยึดอาชีพตัดเย็บเสื้อผ้ามา กว่า 30 ปี พออายุมากขึ้น ประกอบกับความนิยมในการผลิตเสื้อผ้าสั่งตัดลดความนิยมลง เพราะคนปัจจุบันหันมาใส่เสื้อผ้าสำเร็จรูปมากขึ้น ทำให้ต้องหยุดอาชีพดังกล่าวไประยะหนึ่ง จนเมื่อครอบครัวมีหลานสาวจึงคิดจะตัดชุดเป็นของขวัญให้หลานสาว และด้วยความที่ ชื่นชอบละครเกาหลีมาก จึงเลือกที่จะตัดชุดประจำชาติเกาหลี หรือ “ชุดฮันบก” จนกลายมาเป็นจุดเริ่มต้นอาชีพตัดเสื้อผ้าเด็กสไตล์เกาหลี

อย่างไรก็ตาม เมื่อคิดจะทำอาชีพนี้จริงจัง ลูกชายก็แนะนำว่า ถ้าเปิดร้านจะต้องลงทุนมาก อีกทั้งถ้าคิดทำทั่วไป จะไม่มีทางสู้สินค้าที่มีอยู่แล้วได้ เพราะมีข้อจำกัดหลายด้าน ทั้งเงินทุน การตลาด อุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือ ดังนั้นแบบที่จะทำขึ้นจึงต้องมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวไม่ซ้ำแบบใคร โดยใช้ชื่อแบรนด์ “แปมแปม” ตามชื่อหลานที่เป็นแรงบันดาลใจ

“มาสะดุดที่ชุดเกาหลี เพราะเข้ากับกระแสนิยม อีกทั้งเป็นแฟนประจำละครแนวนี้ด้วย จึงคิดว่าน่าจะทำได้ อีกทั้งชุดเกาหลีมีการตัดเย็บค่อนข้างยาก มีรายละเอียดมาก คนที่คิดทำเลียนแบบโดยหวังเรื่องรายได้เป็นหลัก ก็คงไม่ลงมาทำ เพราะไม่คุ้มค่า ดังนั้นจึงตัดเรื่องคู่แข่งออกไปได้ระดับหนึ่ง” ลักขณาอธิบาย
ก่อนจะบอกอีกว่า ความตั้งใจแรกจะให้เป็นชุดนอน เพราะลักษณะชุดค่อนข้างหลวม แต่ลูกค้าที่ซื้อไปมักนำไปให้ลูก ๆ ใส่เที่ยว จึงกลายเป็นชุดที่สามารถใช้งานได้หลากหลายขึ้น การออกแบบ นั้นหากเป็นต้นตำรับชุดฮันบกแท้จะใส่ค่อนข้าง ยาก เพราะมีอุปกรณ์หลายชิ้น ทั้ง “ชอกอรี” ซึ่งเป็นแจ็กเกตสั้นครึ่งตัวบน “โครึม” เป็นผ้าที่เป็นเส้นยาว ๆ สองเส้นผูกไว้ด้านหน้า และ “ชีมา” ซึ่งเป็นกระโปรงที่ยาวตั้งแต่ใต้อกถึงข้อเท้าเมื่อมาทำเป็นชุดเด็กก็ต้องประยุกต์ให้เป็นชุดสำเร็จรูปในตัว เพื่อความสะดวกในการสวมใส่

นอกจากชุดประจำชาติเกาหลี ก็ยังต่อ ยอดสินค้าออกไปเพิ่มขึ้น อาทิ การประยุกต์ชุดฮันบกแบบเดิมให้เป็นชุดแขนกุด เพื่อ ให้ใส่สบายเหมาะกับสภาพอากาศเมืองไทย และหยิบชุดประจำชาติญี่ปุ่นและจีนมาผลิตเพิ่ม เพื่อเป็นทางเลือก ให้ลูกค้า ให้เกิดความหลากหลาย อาทิ “ชุดยูกาตะ” ชุดประจำชาติของญี่ปุ่น “ชุดจิม เบอิ” หรือเสื้อคลุมของชาวญี่ปุ่น รวมถึง “ชุดกี่เพ้า” ของ จีน ที่ทำการประยุกต์เป็นชุดของเด็ก

ลักขณาเล่าต่อว่า ใช้ทุนเริ่มต้นประมาณ 5,000 บาท ส่วนใหญ่เป็นค่าวัตถุดิบ คือผ้า และลองผิดลองถูกในเรื่องแบบ โดยวัตถุดิบคือผ้าจะไปเลือกซื้อด้วยตัวเองตามแหล่งขายผ้า เช่น สำเพ็ง โดยเน้นใช้ผ้าฝ้ายเกรดเอ คุณภาพดี เนื้อเรียบเนียนที่ไม่เป็นอันตรายต่อผิวของเด็ก ซึ่งทุนวัตถุดิบต่อชุดจะอยู่ที่ประมาณ 50% จากราคาขาย

การผลิต จะเป็นฝีมือการตัดเย็บแบบแฮนด์เมด แต่ละตัวจะมีรายละเอียด แตกต่างกันไป ทั้งเนื้อผ้า ลวดลาย และลูกเล่นต่าง ๆ โดยสินค้าจะมีสำหรับเด็กตั้งแต่อายุ 1-6 ขวบ โดยมี 4 ขนาดให้เลือกคือ S สำหรับเด็กส่วนสูง 75-85 ซม. น้ำหนัก 9-11 กก., M ส่วนสูง 85-95 ซม. น้ำหนัก 11-13 กก., L ส่วนสูง 95-105 ซม. น้ำหนัก 14-16 กก. และ XL ส่วนสูง 105-115 ซม. น้ำหนัก 17-20 กก. โดยราคาขายเริ่มตั้งแต่ 219 บาท ไปจนถึงราคา 279 บาท นอกจากนี้ก็ยังรับผลิตตามคำสั่งซื้ออีกด้วย

สำหรับช่องทางการตลาดนั้น จะใช้วิธีขายผ่านเว็บไซต์ pampam.weloveshopping.com เป็นหลัก และก็ยังมีการไปออกร้านเพื่อขายตามย่านธุรกิจ ย่านออฟฟิศ เนื่องจากพฤติกรรมลูกค้าส่วนใหญ่ยังอยากสัมผัสเนื้อผ้าและเห็นสินค้าของจริง จึงเสริมการตลาดด้วยการไปออกบูธขายตามย่านธุรกิจ ย่านออฟฟิศเดือนละ 1-2 ครั้ง โดย กลุ่มลูกค้าเป้าหมายเป็นพ่อแม่ที่มีลูกสาววัยตั้งแต่ 1-6 ขวบ

“ช่องทางการตลาดออนไลน์นี้เหมาะกับธุรกิจเล็ก ๆ มาก เพราะไม่จำเป็นต้องลงทุนสูงจนเกินไป แต่สิ่งสำคัญคือการรักษาความซื่อสัตย์ และคงคุณภาพมาตรฐานการผลิตให้ได้สม่ำเสมอ ถึงจะทำให้สินค้าอยู่ได้ในตลาด” ลักขณา เจ้าของงานไอเดียกล่าวแนะนำ

ใครสนใจดูรูปแบบสินค้าของลักขณา ก็คลิกดูได้ในเว็บไซต์ที่ว่ามาข้างต้น หรือต้องการติดต่อทางโทรศัพท์ ก็ โทร. 0-2925-7142, 08-9110-1377 ซึ่งนี่ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่าง “ช่องทางทำกิน” ที่ “อิงกระแสเกาหลีฟีเวอร์” รวมถึงญี่ปุ่น จีน หากใครคิดได้-ทำแล้วโดน ก็จะเป็นอาชีพที่ทำเงินได้อย่างงาม.

ศิริโรจน์ ศิริแพทย์ : รายงาน ที่มา เดลินิวส์


จำนวนการดูหน้าเว็บรวม